ผลงานดีเด่น ความคิดริเริ่ม และความพยายามฟันฝ่าอุปสรรค

แนวคิดในการทำงาน สิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุดคือ การเป็นเกษตรกร โดยมีแนวคิดในการทำการเกษตร คือ “ทำจริง ต่อยอด พัฒนา ส่งต่อ” ซึ่งให้คำนิยามดังนี้

ทำจริง คือ มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
ต่อยอด คือ นำองค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้รับมาทดลองปฏิบัติและปรับปรุงให้เหมาะสมกับพื้นที่
พัฒนา คือ พัฒนาตนเองโดยเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอและนำมาประยุกต์ใช้ภายในสวน
ส่งต่อ คือ การส่งต่อกิจการสู่รุ่นลูกและส่งต่อองค์ความรู้สู่เพื่อนเกษตรกรอย่างไม่ปิดบัง

คุณเรือง ศรีนาราง พื้นฐานครอบครัวประกอบอาชีพทำนา ฐานะยากจน รักอาชีพเกษตรกร จึงมุ่งมั่นเรียนด้านการเกษตร หลังจากจบการศึกษาระดับ ปวช. ปี 2523 ได้เริ่มทำงานเป็นลูกจ้างในสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดจันทบุรี ต่อมาได้ทำงานปลูกป่าที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จังหวัดจันทบุรี เริ่มประกอบอาชีพทำสวนควบคู่กับทำงานเป็นลูกจ้างไปด้วย

ในระยะแรกทำสวนในลักษณะกงสีมีพ่อแม่ของภรรยาเป็นเจ้าของสวน มีพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ ปลูกทุเรียนหลายสายพันธุ์ เงาะ ลองกอง ในรูปแบบผสมผสานในที่ดินผืนเดียวกัน โดยเน้นทุเรียนเป็นหลัก ต่อมาในปี 2539 เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ชาวสวนประสบปัญหาภัยแล้ง น้ำแห้ง ฝนทิ้งช่วงไม่มีน้ำรดต้นไม้ จึงมีแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำโดยสร้างอ่างเก็บกักน้ำ และเป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ

นำไปปฏิบัติตามเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการแย่งกันใช้น้ำของชุมชน ต่อมาในปี 2545 วางแผนการบริหารจัดการสวนไม้ผลโดยอาศัยองค์ความรู้จากผู้มีประสบการณ์และศึกษาการตลาดจากพ่อค้าที่มารับซื้อทุเรียน โดยเฉพาะเรื่องการทำทุเรียนนอกฤดู ช่วงระยะเวลาในการออกดอก ระยะที่ผลผลิตออกมาไม่ล้นตลาด จึงริเริ่มทำทุเรียนนอกฤดู ส่งผลให้มีผลผลิตมากขึ้น และได้ราคาที่สูง จึงมีเงินทุนในการขยายพื้นที่เพิ่มอีกขึ้น ปัจจุบันมีพื้นที่ประมาณ 127 ไร่ เน้นปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองเป็นหลัก จากประสบการณ์การปลูกทุเรียนทำให้เกิดองค์ความรู้ต่างๆ ดังนี้

จากประสบการณ์ทำให้เกิดองค์ความรู้
1) การทำทุเรียนให้ออกก่อนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยมีเทคนิคการทำให้ออกก่อนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้ผลผลิตและแก้ไขปัญหาผลผลิตกระจุกตัวซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำในช่วงออกสู่ตลาดมาก ดังนี้

1.1) การฉีดพ่นสารพาโคลบิวทราโซล

1.2) การคลุมโคนด้วยผ้าพลาสติก และตัดปลายรากฝอย เพื่อลดความชื้นในดินและลดการหาอาหารของรากพืช เมื่อเริ่มออกดอกจึงนำพลาสติกออก พบว่าออกดอกเร็วขึ้นและตาดอกไม่เปลี่ยนเป็นตาใบถึงแม้จะมีฝนตกหนัก

2) การปรับพื้นที่เพื่อปลูกทุเรียนในที่นาเก่าหรือที่ลุ่ม ซึ่งเป็นพื้นที่นาเก่าไม่เหมาะสมกับการปลูกไม้ผลโดยเฉพาะทุเรียนจึงได้พัฒนาพื้นที่โดยการปลูกแบบยกโคก และขุดร่องระบายน้ำ เป็นต้น

3) การปลูกระยะชิด โดยใช้ระยะ 10 X 10 เมตร และปลูกทุเรียนแซมระหว่างกลาง ทำให้พื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกทุเรียนได้เพิ่มมากขึ้นเป็น 30 ต้นต่อไร่ เป็นวิธีหนึ่งช่วยในเรื่องการเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ รวมทั้งใช้เครื่องจักรกลเข้ามาช่วยในการผลิตทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง

4) การดูแลรักษาต้นทุเรียนอายุมาก เนื่องจากทุเรียนที่ปลูกบางส่วนเป็นทุเรียนชุดแรกมีอายุมากประมาณ 32 ปี จำเป็นต้องดูแลรักษาโดยตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักและปุ๋ยเคมีหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตทันทีเพื่อให้ได้ผลผลิตอย่างต่อเนื่องทุกปี

5) การป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าโดยใช้ความร้อน สาเหตุเกิดจากเชื้อราไฟทอปธอร่า ทำให้ต้นทุเรียนทรุดโทรม หากเป็นมากๆ ต้องโค่นต้นทิ้ง จึงนำเทคนิคการใช้ความร้อนเพื่อรักษาโรคดังกล่าว ดังนี้

5.1) ขูดเปลือกไม้ให้เห็นแผลชัดเจน และนำเปลือกไม้ไปเผาทำลายเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อลงสู่ดิน

5.2) ใช้ความร้อนจากหัวพ่นแก็ส พ่นบริเวณแผลที่ขูดให้ทั่วแผล

5.3) ทำด้วยสารเคมีเมทาแลกซิลหรือ ฟอสอีทิล-อลูมีเนียมที่บริเวณแผล

5.4) เมื่อแผลแห้งทาทับด้วยเชื้อไตรโคเดอร์มาเพื่อควบคุมโรคอีกครั้งหนึ่ง

6) การให้ปุ๋ยและเชื้อไตรโคเดอร์มา + น้ำหมัก+จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง พร้อมระบบน้ำเพื่อประหยัดแรงงาน การให้ปุ๋ยเคมีจะให้เฉพาะฤดูแล้ง ส่วนการใช้เชื้อไตรโคเดอร์มา น้ำหมัก จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง สามารถให้ได้ตลอดทั้งปี

7) การปลูกไม้บังลมเพื่อลดความเสียหายของผลผลิตและใบทุเรียน การทำสวนสิ่งที่ควบคุมได้ยาก คือ สภาพภูมิอากาศและลมพายุ ซึ่งส่งผลต่อผลผลิตทำให้หลุดร่วงในช่วงติดผลและใบทุเรียนได้รับความเสียหาย ต่อการสังเคราะห์แสงของทุเรียน จึงป้องกันโดยการปลูกไม้บังลมเช่น กระถินเทพา ไผ่ เป็นต้น

8) การปลูกพืชแซมเพื่อสร้างรายได้ระหว่างปี เป็นการจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพราะการทำสวนทุเรียน จะให้ผลผลิตเพียงปีละครั้ง จึงต้องปลูกพืชเศรษฐกิจหรือไม้ใช้สอยอื่นๆ แซมระหว่างต้น เช่น ลองกอง กาแฟ หมาก เป็นต้น เพื่อทำให้เกิดรายได้ระหว่างปี และเป็นแนวทางทำการเกษตรแบบยั่งยืน

9) การใช้เครื่องจักรกลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน เพื่อลดการใช้แรงงานคน เช่น รถตัดหญ้าแบบนั่ง รถพ่นยาแบบแอร์บัส เครื่องผสมปุ๋ย รถยก เป็นต้น

10) น้ำหมักชีวภาพและจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง เพื่อปรับปรุงดินและเพิ่มธาตุอาหารต่างๆ ให้เหมาะ กับการเจริญเติบโตของพืช

ผลงานและความสำเร็จของผลงาน ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ตลอดระยะเวลา ที่ปฏิบัติงานและความยั่งยืนในอาชีพ
ปี 2561 ผลผลิตเฉลี่ย 2,887 กก./ไร่ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร : 1,136 กก./ไร่)
ต้นทุนการผลิต ปี 2559 : 25,379 บาท/ไร่ (10 บาท/กิโลกรัม) , ปี 2560 : 21,825 บาท/ไร่ (9 บาท/กิโลกรัม), ปี 2561 : 22,452 บาท/ไร่ (8 บาท/กิโลกรัม)
ได้รับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 100 ไร่
มีแผนการผลิตเพื่อให้ทุเรียนสามารถเก็บเกี่ยวได้ช่วงกลางเดือนเมษายนซึ่งเป็นช่วงที่ราคาทุเรียนสูง และเพิ่มคุณภาพผลผลิตเกรด A- B ประมาณ 82 เปอร์เซ็นต์ และมีผลผลิตตกไซด์ 18 เปอร์เซ็นต์
การใช้เทคโนโลยีการปรับปรุงสภาพการผลิต เช่น การผลิตทุเรียนคุณภาพดีก่อนฤดูเพื่อการส่งออก หรือจัดการให้ต้นทุเรียนพร้อมเพื่อการผลิตนอกฤดู ด้วยการฉีดพ่นสารพาโคลบิวทราโซล การจัดการเพื่อเพิ่มคุณภาพของผลผลิตด้วยการตัดแต่งผล โยงผล นับวันเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 110-120 วันหลังดอกบาน และการปลูกพืชแซม เพื่อเสริมรายได้เพิ่ม
ความยั่งยืนในอาชีพ มีบุตรที่ช่วยดูแลกิจการโดย บุตรชายช่วยดูแลด้านการผลิตและธุรกิจล้งรวบรวมผลผลิตทุเรียน ส่วนบุตรสาวช่วยดูแลด้านตลาดและจำหน่ายผลผลิตสดและแปรรูป รวมทั้งจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์
การเพิ่มมูลค่าผลผลิตและการตลาด
การเพิ่มมูลค่า โดยนำผลผลิตที่ตกเกรดไปแปรรูปภายใต้ชื่อ “ALLBOX”
การตลาด ร่วมกับสภาเกษตรกรจังหวัดตราด เปิดล้งรวบรวมทุเรียนสดคุณภาพดีส่งไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้แผงชื่อ “แผงตาเรือง”

ความเป็นผู้นำและการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในด้านต่างๆ
ปี 2553-ปัจจุบัน รองประธานสภาเกษตรกรจังหวัดตราดคนที่ 1
ปี 2555-ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งในสภาเกษตรกรจังหวัดตราด ดังนี้ ประธานคณะทำงานด้านพืชสวนและพืชไร่ รองประธานคณะทำงานด้านข้าว คณะทำงานด้านเกษตรอินทรีย์และเศรษฐกิจพอเพียง การบริหารจัดการน้ำและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ คณะทำงานด้านปศุสัตว์ คณะทำงานจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม
ปี 2555-ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอื่นๆ ดังนี้ ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างคลองขวาง ประธานกรรมการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนฯ,รองประธานคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนคลองขวาง
ปี 2560 ประธานชุมชนกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ชุมชนที่ 5 ตำบลท่ากุ่ม ภายใต้โครงการ 9101
ปี 2560 –ปัจจุบัน ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม-เนินทราย
ปี 2561 ประธานวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม – เนินทราย ประธานศูนย์ดิน-ปุ๋ยตำบลท่ากุ่ม ประธานกลุ่มย่อยโครงการส่งเสริมรายได้ ประธานแปลงใหญ่จังหวัดตราด เลขานุการแปลงใหญ่ระดับเขต
ปัจจุบันเป็น Smart farmer ต้นแบบ
เป็นคณะทำงานร่วมประชุมวางแผนแก้ไขปัญหาผลไม้ร่วมกับหน่วยงานราชการและท้องถิ่น รวมทั้งจัดทำข้อเสนอการพัฒนาคุณภาพผลไม้เพื่อยกระดับราคาตามแนวทาง GAP
คณะทำงานเจรจาการค้ากับแม่ค้าไทยและลาว จังหวัดหนองคายร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมจัดนิทรรศการเพื่อนำเสนอผลไม้ไทยในประเทศญี่ปุ่นร่วมกับกรมวิชาการเกษตร นำทุเรียนไปร่วมจัดนิทรรศการเพื่อนำเสนอผลไม้ไทยในประเทศกัมพูชาและเวียดนามร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดตราด
ร่วมกับบริษัทไทยอะกริเน็ตเวิร์ค หรือบริษัทเครือข่ายเกษตรกร 4 ภูมิภาค รวบรวมผลผลิตทุเรียนจำนวน 340 ตัน มูลค่า 27.2 ล้านบาทส่งตลาดประเทศจีน
เป็นวิทยากรรับเชิญจากทั้งมหาวิทยาลัยและกลุ่มเกษตรกร
เป็นผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อเป็นคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประจำจังหวัดตราดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.2560

การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ที่ตั้งสวนอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน (สปก.) โดยเป็นชื่อของครอบครัว
ปรับปรุงดินด้วยการใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักที่ทำเอง ร่วมกับปุ๋ยเคมี เป็นการลดต้นทุนการผลิต
ป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยใช้จุลินทรีย์ที่ทำเองโดยเฉพาะไตรโคเดอร์มาร่วมกับวิธีกล (ขูดเปลือก เผาไฟ และทาเชื้อโตรโคเดอร์มา)
ป้องกันกำจัดเชื้อไฟทอปธอร่าในทุเรียน, สารหมักจากเชื้อ พ.ด.8 เพื่อกำจัดไรแดง และจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน
รักษาความชื้นในดิน โดยตัดหญ้าด้วยเครื่องตัดหญ้าแทนการใช้สารเคมีและปลูกพืชแซม
รักษาแหล่งน้ำ ด้วยการขุดลอกคลองเพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดปีและเผื่อแผ่ให้เกษตรกรใกล้เคียง
มีการจัดการบ้านพักและสวนเป็นสัดส่วน มีแหล่งน้ำที่เพียงพอ ติดตั้งระบบสปริงเกอร์ทุกต้น

วันนี้ได้ดูคลิปของ คุณปา ไชยปัญหา ที่ส่งผ่านมาทางไลน์ กลุ่มเกษตรตามรอยพ่อ https://bit.ly/2DiHddR เป็นคลิปแนะนำกิจกรรมและความเคลื่อนไหวของไร่อรหันต์ โคราช ที่คุณปาเป็นเจ้าของ…และแจ้งข่าวประชาสัมพันธ์ว่าต่อไปนี้ทางไร่อรหันต์จะมีช่อง YouTube เป็นของตนเอง…ผมได้ชมก็เกิดแรงบันดาลใจให้เขียนเรื่องนี้ เรื่องที่ว่าเกษตรกรไทยทุกคนควรจะเปิดช่องทีวีออนไลน์ หรือช่อง YouTube เป็นของตนเอง

ทุกท่านคงทราบดีว่ายุคนี้เป็นยุค Digital Disruption คือดิจิทัลทำลายล้างทุกอย่าง โดยเฉพาะคนหรือธุรกิจที่ปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าคนนั้นจะตัวใหญ่หรือธุรกิจนั้นจะเคยมั่นคงแค่ไหน เจอพายุดิจิทัลลูกเดียวพังระเนระนาด แต่จะร้ายแค่ไหนก็ถือว่าเป็นโอกาสอย่างมากสำหรับคนตัวเล็กหรือธุรกิจขนาดเล็ก เพราะยิ่งเล็กยิ่งปรับตัวได้เร็วกว่า ที่เคยบอกว่าปลาใหญ่กินปลาเล็ก กลายเป็นว่าปลาเร็วกินปลาช้า…

สำหรับผมถือว่าเป็นยุคที่จะได้เกิดใหม่ คนตัวเล็กตัวใหญ่เท่าเทียมกันอีกครั้ง ทุกอาชีพไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกันมาก และโอกาสเป็นของทุกคนอีกครั้ง “ไม่ควรที่จะปล่อยให้โอกาสนี้หลุดมือ” โดยเฉพาะการนำอาวุธดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือ หรือทำให้เป็นสมุนรับใช้ ใครสามารถนำมาใช้ได้ก่อนกันก็จะได้เปรียบทันที (ยุคที่อินเตอร์เน็ตเข้าถึงทุกบ้าน นั่นหมายถึงมันพร้อมจะรับใช้เรา)

ผมจึงเห็นด้วยอย่างยิ่งที่คุณปา แห่งไร่อรหันต์ จะเปิดช่อง YouTube รวมทั้งเพื่อนๆของผมคนอื่นๆ ที่หันมาเปิดกันหลายรายแล้ว ที่เห็นด้วยนั้นก็เพราะว่าสมัยนี้คนชอบดูคลิปวิดีโอมากกว่าการอ่านตัวหนังสือ และเป็นสื่อที่เข้าถึงได้ง่าย ทั้งคนทำหรือคนผลิตก็สามารถทำได้ง่าย ผลิตได้ง่าย ที่สำคัญต้นทุนในการทำหรือผลิตนั้นต่ำมาก โดยเฉพาะช่อง YouTube ไม่ต้องเสียค่าเช่าพื้นที่จัดเก็บข้อมูลเหมือนเว็บไซต์และใช้เวลาหรือขั้นตอนในการอัฟโหลดง่ายกว่ากันมาก แถม LIVE Streaming ถ่ายทอดสดได้ทุกเมื่อที่ต้องการ จึงถือว่าทรงประสิทธิผลมากกว่าเป็นไหนๆ

ช่อง YouTube ยังสามารถทำเป็นช่องทางสร้างรายได้ นอกเหนือจากการทำช่องเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของสินค้าของกิจการ เรียกว่าเป็นการทำตลาดออนไลน์ด้วยวิดีโอ ส่วนถ้าจะทำเป็นช่องสร้างรายได้ ก็จำเป็นที่จะต้องทุ่มเท หรือเป็นมืออาชีพ เรียกว่า YouTuber แต่ก็ไม่ยากที่จะเรียนรู้

พูดถึงการเรียนรู้ “เกษตรก้าวไกล” (เว็บไซต์ข่าวเกษตรประเทศไทย) มีข่าวดีดีแจ้งให้ทราบว่า ในปี 2562 เราได้ร่วมมือกับพันธมิตรจัดโครงการเกษตรคือประเทศไทย ปี 2 คือไม่เพียงออกเดินทางค้นหาสุดยอดเกษตรกรประเทศไทย (Thailand Super Farmers) แต่เราจะเสริมด้วยกิจกรรมต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ ห้องเรียนกลางสวน (Course for Farmers) ซึ่งได้มีการแนะนำไปบ้างแล้ว และอีกกิจกรรมหนึ่งที่จะเดินคู่กันคือ โครงการอบรมติดอาวุธความรู้(ดิจิทัล)ให้เกษตรกรไทยพร้อมรบในโลกออนไลน์ ชื่อโครงการอาจจะยาวไปหน่อย แต่ชื่อสั้นๆ เป็นภาษาอังกฤษว่า “Digital for Farmers” (ฟังชื่อแล้วพอได้ไหมครับ) เพราะต้องยอมรับอาวุธดิจิทัลทรงพลังในเรื่องการตลาดสมัยใหม่มาก หรือเรียกว่า เป็นเครื่องมือเดียวที่จะทำให้เกษตรกรทัดเทียม มีอิสระในโลกการค้าเสรีมากขึ้น ขอเพียงใช้เครื่องมือให้เป็น ใช้โทรศัพท์มือถือให้คุ้มประโยชน์ แค่นี้ก็จะลงสนามรบได้

เราจึงขอป่าวประกาศว่าเราจะออกเดินสายจัดอบรมทั่วประเทศ ประมาณ 10 ครั้ง โดยสถานที่กำหนดไว้เบื้องต้น เช่น ที่จังหวัดชุมพร จังหวัดอุตรดิตถ์ ฯลฯ แต่ละสถานที่นั้นจะอยู่ในชุมชน เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยมีโอกาสเข้าถึงให้มากที่สุด และวิธีการกำหนดสถานที่ของเรานั้นจะเปิดโอกาสให้ชุมชนเป็นผู้กำหนดเอง คือชุมชนใดที่รวบรวมสมาชิกได้ประมาณ 30 คน เราก็จะเดินทางไปเปิดอบรมให้

สำหรับหัวข้อการอบรม จะเน้นเรื่องการทำตลาดออนไลน์ (Digital Marketing) การตลาดที่จะเชื่อมต่อกับคนทั้งโลก “ตลาดทะลุโลก” เน้นการตลาดออนไลน์แบบที่เกษตรกรทำได้ง่ายๆ เช่น การซื้อขายผ่านโซเชียลมีเดีย การเปิดช่องยูทูป การ LIVE สดขายสินค้า การใช้แอปพลิเคชั่นมาเป็นตัวช่วยในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการตัดต่อวิดิโอ การถ่ายภาพ ฯลฯ (สรุปคือว่า เน้นการใช้เครื่องมือให้เป็น และใช้โทรศัพท์มือถือให้คุ้มประโยชน์…รายละเอียดกำหนดการและหัวข้ออบรม จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง)

สิ่งที่อยากย้ำคือ…ในเบื้องต้นนี้ชุมชนไหนที่ประสงค์จะให้ทีมงานของเราไปเปิดอบรม ขอให้รีบแจ้ง โดยการอบรมทั้งหมดไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ จะเป็นการจัดร่วมกันกับชุมชนนั้นๆ โดยที่ชุมชนอาจจะจัดหาเรื่องสถานที่และเตรียมสมาชิกในชุมชนมาเข้าอบรม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.ไอดีไลน์ 0813090599 (ลุงพร) หรืออีเมล์ kasetkaoklai@gmail.com โดยโครงการของเราจะเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ตุลาคม …อย่าลืมแจ้งความประสงค์เข้ามาตั้งแต่เนิ่นๆ นะครับ

หมายเหตุ : ขอเชิญชวนมายังหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมสนับสนุนโครงการนี้ เพราะนี่คือโอกาสของเกษตรกรไทยที่จะได้เกิดในเรื่องการตลาดนำการผลิต ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งในทางปฏิบัติจะต้องให้เกษตรกรทำการตลาดได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะ Digital Marketing ดังกล่าวแล้ว

ชาวนาสุพรรณบุรี และจังหวัดใกล้เคียง ประกาศร่วมมือร่วมใจไม่เผาตอซังข้าวอีกต่อไป https://bit.ly/2GBZk0e คำประกาศนี้ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 ณ ทุ่งนา อำเภอศรีประจันต์ โดย บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้นำธุรกิจเครื่องจักรกลการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน พร้อมเป็นผู้นำนวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต แก้ปัญหาการเผาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน ได้ดำเนินการจัดงานนี้ขึ้น ภายใต้โครงการ Zero Burn เกษตรปลอดการเผา ตอน ชาวนาไทยไร้ฝุ่นควัน เพื่อส่งเสริมชาวนาไทย ทำเกษตรปลอดการเผา เพิ่มมูลค่าฟางข้าวเหลือทิ้งเป็นรายได้เสริม ไถกลบตอซังเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่แปลงนา พร้อมจับมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน และกรมวิชาการเกษตร ให้ความรู้และสนับสนุนการทำนาข้าวด้วยเครื่องจักรกลแบบครบวงจร รวมถึง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตั้งเป้าทำให้ได้ภายใน 3 ปี

ตั้งเป้าพื้นที่เกษตร 140 ล้านไร่ ปลอดเผา 100% ใน 3 ปี
นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มลพิษที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 เป็นปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งมาจากการเผาในที่โล่งกว่า 50% โดยเฉพาะในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน สถานการณ์จะหนักในช่วงพฤศจิกายนถึงพฤษภาคม ส่วนในภาคกลางมักจะได้รับผลกระทบจากการเผาตอซังในนาข้าว เนื่องจากเป็นแหล่งปลูกข้าวในเขตชลประทานที่ทำนาปีละ 2 ครั้ง ซึ่งปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน เพื่อลดปัญหาการเผาจากภาคการเกษตร จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับนโยบายและมาตรการต่างๆ

ของรัฐบาลที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การดำเนินการควบคุมการเผาตอซังข้าวในพื้นที่เกษตรกรรมและควบคุมการเผาในที่โล่ง โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจัดส่งเจ้าหน้าที่เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร สร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาให้ถ่ายทอดความรู้และพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในชุมชนให้นำเทคโนโลยีนวัตกรรมเกษตรจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ทดแทนการเผา ล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร ได้รับความร่วมมือจากบริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด จัดตั้งโครงการ Zero Burn เกษตรปลอดการเผา ขึ้น เพื่อส่งเสริมเกษตรกรไทยทำการเกษตรแบบไม่เผา ด้วยเครื่องจักรกลการเกษตรอย่างครบวงจรในพืชที่กระทรวงดูแลรับผิดชอบอยู่ ได้แก่ ข้าวและข้าวโพด โดยตั้งเป้าพื้นที่เกษตรของไทยกว่า 140 ล้านไร่ให้เป็นเกษตรปลอดการเผา 100% ภายใน 3 ปี

พื้นที่ปลูกข้าว 70 ล้านไร่ ตอซัง 18 ล้านตัน จะต้องเพิ่มมูลค่า
นายประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวปีละประมาณ 70 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 46.40 ของพื้นที่ทำการเกษตร ในแต่ละปีมีฟางข้าวเหลือทิ้งในนาเฉลี่ย 27 ล้านตัน และมีตอซังข้าวที่ตกค้างอยู่ในนาข้าวประมาณ 18 ล้านตัน ซึ่งฟางข้าวและตอซังข้าวเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีปริมาณมากที่สุดเมื่อเทียบกับตอซังพืชอื่น

โดยในพื้นที่ปลูกข้าว 1 ไร่ มีปริมาณฟางข้าวและตอซัง โดยเฉลี่ยปีละ 650 กิโลกรัม นับเป็นปัจจัยหลักที่เกษตรกรส่วนมากนิยมเผาตอซังข้าวเพื่อให้เกิดความสะดวกในการไถเตรียมดิน ง่ายต่อการกำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูพืช ซึ่งวิธีดังกล่าวจะทำให้โครงสร้างของดินเปลี่ยนไป สูญเสียอินทรียวัตถุและธาตุอาหารในดิน คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 พันล้านบาทต่อปี แต่หากเปลี่ยนเป็นวิธีไถกลบตอซังข้าวในพื้นที่ 1 ไร่ จะเป็นการเพิ่มธาตุอาหารหลักลงในดิน ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม คิดเป็นมูลค่า 900 บาท/ไร่

ซึ่งช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ อีกทั้งทำลายจุลินทรีย์และแมลงที่เป็นประโยชน์ การเผาตอซังพืชทำให้ผิวดินมีอุณหภูมิสูงถึง 90 องศาเซลเซียส ทำให้สูญเสียน้ำในดิน ส่งผลให้ความชื้นในดินลดลง โดยกรมการข้าวได้จัดโครงการรณรงค์งดเผาฟางและไถกลบตอซังพืชอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบจากการเผาฟาง ชี้ให้เห็นถึงข้อดีของการไถกลบตอซังพืชที่สามารถช่วยปรับปรุงสมบัติทางกายภาพ ทำให้ดินโปร่ง ร่วนซุย ง่ายต่อการเตรียมดิน เพิ่มธาตุอาหารทางเคมีตรงตามที่พืชต้องการ

ต้านทานความเป็นกรด-ด่าง และยังช่วยเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ในดิน อีกทั้งนำฟางข้าวไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น คลุมดินทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เอง หรืออัดฟางก้อนไปขายเพื่อเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงโค นอกจากนี้สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากฟางข้าว เพื่อสร้างรายได้เสริมทดแทนการเผาอีกด้วย สำหรับโครงการ Zero Burn เกษตรปลอดการเผา ตอน ชาวนาไทยไร้ฝุ่นควัน จะเป็นการเข้าไปให้ความรู้แก่เกษตรกรชาวนาในการเก็บเกี่ยวข้าวหลังฤดูกาลเพาะปลูก ร่วมถึงการทำเกษตรปลอดการเผาด้วยการไถกลบตอซัง และนำฟางข้าวที่เหลือทิ้งมาอัดเป็นฟางก้อนเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรด้วยเครื่องจักรกลการเกษตร โดยจะเน้นในพื้นที่เกษตรที่มีการเผาสูง หรือจุด Hotspot 10 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อยับยั้งการเกิดจุดความร้อนเพิ่มขึ้น และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางอากาศ

สยามคูโบต้า โชว์จักรกลเกษตรช่วยชาวนาไม่เผาอีกต่อไป
นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวถึงที่มาของโครงการ Zero Burn เกษตรปลอดการเผา ว่า บริษัทฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาในภาคการเกษตรอย่างเร่งด่วน จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน พร้อมด้วยกระทรวงอุตสาหกรรม

โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จัดโครงการ “Zero Burn เกษตรปลอดการเผา” ขึ้น เพื่อรณรงค์ให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบไม่เผา ในพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ข้าว อ้อย และข้าวโพด พร้อมลงพื้นที่สนับสนุนการทำเกษตรด้วยเครื่องจักรกลการเกษตรแบบครบวงจร และให้ความรู้ในด้านต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มรายได้จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร รวมถึงส่งเสริมให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของอินทรียวัตถุ การรักษาความชื้นในดิน เพื่อการทำเกษตรอย่างยั่งยืนด้วยองค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้เกษตรกรมากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินงานร่วมกันในทุกภาคส่วน 3 ปีหลังจากนี้ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่เกษตรปลอดการเผา 100%

โครงการ Zero Burn เกษตรปลอดการเผา จะเริ่มรณรงค์จากเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายใต้ชื่อ ตอน “ชาวนาไทยไร้ฝุ่นควัน” ซึ่งหลังการเก็บเกี่ยวข้าว เศษวัสดุเหลือใช้จากนาข้าวทั้งฟางข้าวและตอซังข้าว ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อชาวนาเป็นอย่างมาก หากเกษตรกรมีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาใช้งานอย่างครบวงจร ในส่วนของฟางข้าว เกษตรกรสามารถเพิ่มมูลค่าของฟางข้าวได้ด้วยการอัดฟางข้าว จากเครื่องอัดฟางคูโบต้า รุ่น HB135 ซึ่งเป็นอุปกรณ์ต่อพ่วงที่ใช้ในการอัดฟาง ทำให้ได้ก้อนฟางที่แน่น ตรงสวย

ลดการหลุดร่วงและการสูญเสียฟางข้าว โดยสามารถอัดฟางได้วันละ 40-50 ไร่ (เฉลี่ย 20-25 ก้อนต่อไร่) ได้ก้อนฟางสูงถึง 1,250 ก้อนต่อวัน ซึ่งรายได้จากการรับจ้างอัดฟางจะมีมูลค่าอยู่ที่ 13 บาทต่อก้อน โดยก้อนฟางเหล่านี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงสัตว์ อาทิ โคนม โคเนื้อ สัตว์เคี้ยวเอื้องเพื่อการพาณิชย์ ช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนสำหรับฟาร์มโคเนื้อ ตลอดจนสร้างรายได้เสริมด้วยการใช้เครื่องอัดฟางอีกด้วย นอกจากนี้หากมีการฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ ที่ผ่านกรรมวิธีการหมักผสมสารเร่งซุปเปอร์ พด. 2 ซึ่งเป็นสารจุลินทรีย์ที่ผลิตโดยกรมพัฒนาที่ดิน

มีคุณสมบัติในการย่อยสลายวัสดุการเกษตรในลักษณะสด อวบน้ำ หรือมีความชื้นสูงเพื่อผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ ด้วยเครื่องพ่นอเนกประสงค์ ตราช้าง รุ่น BS350 ที่มีคุณสมบัติฉีดละอองละเอียดถึง 70 ไมครอน กระจายตัวแทรกซึมทั่วพื้นที่ สม่ำเสมอทั่วทั้งแปลง สามารถเปลี่ยนหัวฉีดได้หลากหลายให้เหมาะกับพืชแต่ละชนิด ระบบหมุนวนภายในถังทำให้สารที่ต้องการฉีดพ่นไม่ตกตะกอน ได้คุณภาพคงที่ หรือจะเป็นนวัตกรรมใหม่ โดรนเพื่อการเกษตร รุ่น MG1-K ซึ่งจะฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพก่อนการไถกลบตอซัง เพื่อช่วยปรับปรุงบำรุงดินเพิ่มธาตุอาหารและฮอร์โมนพืช

สุดท้ายเป็นการไถกลบตอซังข้าว ด้วยผานพรวน ตราช้าง รุ่น DH245-6F-HP ซึ่งเป็นอุปกรณ์ต่อพ่วงสำหรับไถกลบเศษตอซัง ที่ถูกออกแบบให้เป็นกระทู้แยกสำหรับใบจานแต่ละใบ ทำให้ใช้งานได้เอนกประสงค์ สามารถไถพรวนดินได้ลึก ละเอียด ตลอดจนกลบหรือสาดดินได้ดี อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาฟางหมุน ปรับตั้งได้ตามความเหมาะสมในการใช้งานในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะช่วยทำให้ดินมีความโปร่ง ร่วนซุย ดินมีการระบายอากาศได้ดียิ่งขึ้น ทำให้ง่ายต่อการเตรียมดินในการเพาะปลูกครั้งต่อไป ด้วยวิธีการใช้รถดำนาและรถหยอดข้าว ทดแทนการทำนาหว่าน ในโครงการ Zero Broadcast เพื่อส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าวคุณภาพสูง ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า

เรื่อง : ลุงพร เกษตรก้าวไกล (ภาพบางส่วนจาก ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี)

ต้องขอบอกว่าบรรยากาศของงาน มหกรรมชิมทุเรียน ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-28 เมษายน 2562 อบอวลไปด้วยทุเรียนทั้งพันธุ์ใหม่ๆ และพันธุ์โบราณหายากที่นำมาชิมกันกว่า 50 สายพันธุ์ (จากทั้งหมด 600 สายพันธุ์) เรียกว่าเป็นครั้งหนึ่งของชีวิตที่จะมีโอกาสได้ชิมทุเรียนพื้นเมืองมากมายขนาดนี้

การเปิดงานเริ่มต้นขึ้น เวลา 09.30 น. โดย คุณวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานในพิธี และกล่าวต้อนรับโดย คุณศิริพร วรกุลดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ซึ่งถือเป็นเจ้าภาพของงานนี้ที่จัดขึ้นปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

คุณศิริพร กล่าวถึงที่มาที่ไปของการจัดงานครั้งนี้ว่า (ประวัติทุเรียนไทย) ประเทศไทยมีการปลูกทุเรียนมายาวนานกว่า 300 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2228 ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในยุคกรุงศรีอยุธยา ในอดีตประเทศไทยมีพันธุ์ทุเรียนมากกว่า 200 สายพันธุ์ แต่ในปัจจุบันพันธุ์ทุเรียนที่นิยมปลูกเป็นการค้ามีอยู่เพียง 5 สายพันธุ์คือ หมอนทอง กระดุมทอง ชะนี ก้านยาว และพวงมณี เท่านั้น

“ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินงานโครงการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากเชื้อพันธุกรรมทุเรียนมาเป็นระยะเวลานาน ต่อเนื่องจากสถานีทดลองพืชสวนพลิ้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 – ปัจจุบันเป็นเวลากว่า 60 ปีแล้ว ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยการสำรวจ รวบรวม และจำแนกพันธุ์ทุเรียนจากแหล่งปลูกที่สำคัญจากทั่วประเทศไทยและต่างประเทศ มีจำนวนมากกว่า 600 สายพันธุ์

นำมาปลูกรวบรวมไว้ในแปลงอนุรักษ์และรวบรวมพันธุ์ของศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี จำนวน 3 แห่ง พื้นที่ประมาณ 70 ไร่ จนถึงปัจจุบันนี้ นับได้ว่าศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรีเป็นแหล่งอนุรักษ์และรวบรวมพันธุ์ทุเรียนที่มากที่สุดในประเทศไทย โดยศูนย์ฯ ได้นำพันธุกรรมเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์เพื่อสร้างทุเรียนลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาเป็นพันธุ์การค้าใหม่ของประเทศไทย ที่ตรงกับความต้องการของตลาดในปัจจุบัน ทั้งในด้านความหลากหลาย และมีลักษณะเฉพาะตามรสนิยมในการบริโภคที่แตกต่างกัน ได้แก่ พันธุ์จันทบุรี 1-10 เป็นต้น และเก็บรักษาฐานพันธุกรรมทุเรียนนี้ไว้เพื่อเป็นมรดกสำหรับอนุชนรุ่นหลังสำหรับใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี

ทางด้าน คุณวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มีโอกาสมาเป็นประธานเปิดงานมหกรรมชิมทุเรียน ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ปี 2562 ในครั้งนี้

“ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี เป็นหน่วยงานที่ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนางานด้านไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะทุเรียน รวมทั้งอนุรักษ์และรวบรวมพันธุ์ทุเรียนมากที่สุดในประเทศไทยเป็นระยะเวลานานมากกว่า 60 ปีแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าปัจจุบันมีสายพันธุ์ทุเรียนทั้งพันธุ์พื้นเมือง พันธุ์ต่างประเทศ และพันธุ์การค้าที่รวบรวมไว้ในแปลงปลูกมากกว่า 600 สายพันธุ์ และถือได้ว่าพันธุกรรมทุเรียนเหล่านี้เป็นทรัพยากรที่เป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติ จากข้อมูลของผู้อำนวยการศูนย์วิจัย พืชสวนจันทบุรีทำให้ทราบว่า

ในปัจจุบันทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองของประเทศไทยอยู่ในภาวะเสี่ยงที่ใกล้จะสูญพันธุ์สูง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะภัยทางธรรมชาติ ดังนั้น การอนุรักษ์และรวบรวมพันธุ์ทุเรียนจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญอย่างมากทั้งในด้านการนำพันธุกรรมเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์เพื่อสร้างทุเรียนลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้แก่ พันธุ์จันทบุรี 1-10 และเป็นมรดกตกทอดสำหรับอนุชนรุ่นหลังสำหรับใช้เป็นฐานพันธุกรรมทุเรียนในอนาคต และงานมหกรรมชิมทุเรียนฯ

ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรีจัดขึ้นครั้งนี้ นอกจากเป็นการช่วยเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ความหลากหลายของทุเรียนในประเทศไทยให้ประชาชนโดยทั่วไปได้รู้จักมากขึ้น โดยการเปิดให้ชิมทุเรียนสายพันธุ์ต่างๆ นำผลทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองโบราณมาจัดแสดง และมีนิทรรศการความรู้เกี่ยวกับทุเรียนและพันธุ์ทุเรียนแล้วยังเป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของโครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของศูนย์วิจัย พืชสวนจันทบุรี และการท่องเที่ยวจังหวัดจันทบุรี ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ และเป็นมหานครผลไม้ที่มีความเด่นมากยิ่งขึ้นด้วย” ผู้ว่าฯ จันทบุรี กล่าว

สำหรับบรรยากาศของงานในวันแรกนี้ ได้มีประชาชนที่ทราบข่าวเดินทางมาร่วมชิมทุเรียนจำนวนไม่ขาดสาย ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าทุเรียนพื้นเมืองไทยรสชาติอร่อยและมีความหลากหลายมาก ปกติชิมแต่พันธุ์หมอนทอง ชะนี ก้านยาว ที่เป็นพันธุ์การค้าไม่เคยได้มีโอกาสชิมทุเรียนพื้นเมืองที่มากเท่าครั้งนี้มาก่อน จึงรู้สึกภาคภูมิใจในมรดกอันล้ำค้าที่บรรพบุรุษไทยได้สร้างขึ้นและตกทอดมาสู่ลูกหลานไทยในวันนี้

โดยกิจกรรมต่างๆ ในงานมหกรรมชิมทุเรียน นอกจากจะได้ชิมทุเรียนสายพันธุ์ต่างๆ ทั้งพันธุ์พื้นเมืองมากกว่า 50 สายพันธุ์ พันธุ์จันทบุรี และพันธุ์การค้าต่างๆ แล้ว ยังจะได้ชมนิทรรศการความรู้ เรียกว่าอิ่มทั้งกายและใจ โดยเฉพาะการจัดจำแนกกลุ่มพันธุ์ทุเรียน โดยการนำผลทุเรียนสายพันธุ์ต่างๆ มาจัดแสดงให้เห็นจริง และโปสเตอร์ความรู้เกี่ยวกับทุเรียนและพันธุ์ทุเรียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจ และเป็นประสบการณ์ที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้วในประเทศไทย

ท่านที่สนใจขอให้รีบไปชมงาน สมัคร Holiday Palace ระหว่างวันที่ 25-28 เมษายน 2562 เวลา 10.00-14.00 น. ณ อาคารท่องเที่ยวฯ ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ต.ตะปอน อ.ขลุง จ.จันทบุรี…”ขอย้ำว่าเป็นเวลาดี 4 วันเท่านั้นที่จะมีโอกาสครั้งหนึ่งของชีวิตในรอบปี ที่จะได้ชมและชิมทั้งทุเรียนพันธุ์ใหม่และพันธุ์พื้นเมืองหายากจำนวนสายพันธุ์มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา”…นี่เป็นคำพูดประสานเสียงของผู้ว่าฯจันทบุรีและผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี นะครับ