เศรษฐกิจ3ภาคไตรมาส2ซบหดตัว น้ำท่วมอีสานสูญหมื่นล้าน

แบงก์ชาติ 3 ภาคเผยภาวะเศรษฐกิจการเงินไตรมาส 2/2560 ธปท.อีสานห่วงน้ำท่วมหนักจากพายุเซินกา กระทบเศรษฐกิจอีสาน นาข้าว-ปศุสัตว์เสียหายรวมกว่า 7,000-10,000 ล้านบาท ด้าน ธปท.ใต้เผยการบริโภคชะลอ การลงทุนภาคเอกชนทรงตัว ด้านแบงก์ชาติภาคเหนือระบุเศรษฐกิจยังซึม ชี้งบฯกลุ่มจังหวัด 1.5 หมื่นล้าน เบิกจ่ายได้เพียง 8.8% ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้านยอดโอนอสังหาฯซบเซา

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 60 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักงานภาคใต้ สำนักงานภาคเหนือ เปิดแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจและการเงินของแต่ละภูมิภาคในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2560

ธปท.อีสานห่วงน้ำท่วมฉุด ศก.

นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน จากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น ตามการขยายตัวของรายได้เกษตรกร รายได้ภาคบริการด้านการท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้น นอกจากนี้การผลิตภาคอุตสาหกรรม และภาคการค้าขยายตัวดี ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง

ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐแผ่วลง ทั้งนี้ เงินฝากคงค้างของสถาบันการเงินชะลอลง ส่วนสินเชื่อทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงจากไตรมาสก่อน ตามราคาอาหารสดและน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนอัตราการว่างงานปรับลดลง จากการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่ภาคการเกษตร

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 3 ปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจอีสาน คือ มาตรการกระตุ้นของภาครัฐที่จะมีเม็ดเงินไหลเข้าภาคอีสานจำนวนมาก ทั้งโครงการสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศของกลุ่มจังหวัด โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ โครงการหมู่บ้านละ 2 แสนบาท ซึ่งต้องดูถึงการเบิกจ่ายจะล่าช้าหรือไม่

ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยบวกคือการค้าชายแดนของภาคอีสานขยายตัวดีต่อเนื่อง และที่สำคัญคือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ เช่น การสร้างรถไฟทางคู่เข้าในภาคอีสาน จะกระตุ้นให้ภาคเอกชนเกิดการลงทุนตามพื้นที่ของโครงการด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่น่าห่วงคือผลกระทบต่อภาคเกษตร หลังพื้นที่เกษตร 19 จังหวัดภาคอีสานถูกน้ำท่วมหนัก ขณะเดียวกันยอดสั่งซื้อยางพาราจากประเทศจีนมีการชะลอตัวลง เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจอีสานด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้นยังมีการหยิบยกปัญหาน้ำท่วมหนักจากอิทธิพลพายุเซินกา ทำให้ฝนตกหนักต่อเนื่องและเกิดน้ำท่วมขังหนักที่จังหวัดสกลนคร และขยายตัวครอบคลุมไปเกือบทุกจังหวัดในภาคอีสาน กระทบภาคเกษตรกรรม นาข้าวถูกน้ำท่วมถึง 2-3 ล้านไร่ หรือร้อยละ 12 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดในอีสาน

ขณะที่ภาคปศุสัตว์ก็เสียหายหนักเช่นกัน ประเมินความเสียหายเฉพาะภาคเกษตรมีมูลค่ากว่า 7,000-10,000 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับระยะเวลานาข้าวถูกน้ำท่วม และการพร่องน้ำออกจากพื้นที่ ขณะที่ความเสียหายต่อทรัพย์สิน บ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วม ยังไม่สามารถประเมินได้ ซึ่งผลกระทบจากน้ำท่วมนาข้าว ปศุสัตว์ ใน 19 จังหวัดภาคอีสาน น่าจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจภาคอีสานในระยะต่อไปด้วย

ภาคใต้อุปโภคบริโภคชะลอ

นางสุรีรัตน์ ลัคนานิตย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ กล่าวว่า เศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และไตรมาสก่อนหน้าตามผลผลิตเกษตรที่เพิ่มขึ้น ส่วนราคาสินค้าเกษตรยังขยายตัวแม้จะชะลอลง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวตามนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวได้เร็วจากมาตรการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรป

ขณะที่การส่งออกขยายตัวต่อเนื่องเป็นผลจากด้านราคาและคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านการอุปโภคบริโภคขยายตัวชะลอลงตามการชะลอตัวของยอดขายสินค้าในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายลงทุนภาครัฐลดลง

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนทรงตัวอย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกยางพาราแปรรูปลดลง เนื่องจากสต๊อกยางในประเทศจีนอยู่ในระดับสูง เช่นเดียวกับการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องที่หดตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.8

สำหรับการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 1.6 แต่ชะลอลงจากไตรมาสก่อน โดยการใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนเร่งตัว เนื่องจากรายได้เกษตรกรที่อยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากนี้มีการเร่งซื้อสินค้ากึ่งคงทน เพื่อทดแทนของที่ชำรุดเสียหายจากอุทกภัยในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการชะลอลง โดยเฉพาะยอดขายสินค้าในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ เนื่องจากประชาชนยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้นอกภาคเกษตรที่ค่อนข้างทรงตัว การใช้จ่ายภาครัฐลดลงร้อยละ 33.2 ทั้งรายจ่ายประจำและลงทุน ด้านการลงทุนภาคเอกชนทรงตัว โดยการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างลดลง ขณะที่การซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

กลุ่ม จว.เหนือเบิกจ่ายต่ำ 8.8%

ขณะที่นายสิงห์ชัย บุณยโยธิน ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานภาคเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 2 ปี 2560 แม้จะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน อาทิ ผลผลิตพืชหลักเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะข้าวนาปรังที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรทั้งข้าวและน้ำตาล รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวตามการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงตลาดประชุมสัมมนาที่เร่งตัวขึ้นแต่มีหลายประเด็นของเศรษฐกิจภาคเหนือที่มีทิศทางไม่ชัดเจน และหดตัว กล่าวคือการบริโภคภาคเอกชนยังไม่เข้มแข็ง

แม้เพิ่มขึ้นในหมวดสินค้าคงทน อาทิ ยอดจดทะเบียนรถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้น การเบิกจ่ายงบฯกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ จำนวน 15,839 ล้านบาท ยังเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมาย ขณะที่ยอดโอนอสังหาริมทรัพย์ยังคงซบเซา รวมถึงราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มต่ำลง และภาคการส่งออกชายแดนไปประเทศเมียนมา และ สปป.ลาวยังคงหดตัว

นายสิงห์ชัยกล่าวว่า ประเด็นสำคัญหนึ่งที่พบก็คือ การใช้จ่ายลงทุนของภาครัฐแผ่วลงและยังต่ำกว่าเป้าหมาย โดยการใช้จ่ายงบฯลงทุนของภาครัฐลดลง 25.5% จากการใช้จ่ายเงินอุดหนุนให้กับท้องถิ่นลดลง และโครงการกลุ่มจังหวัดส่วนใหญ่อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเบิกจ่ายโครงการของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ จำนวน 15,839 ล้านบาท ยังมีการเบิกจ่ายต่ำเพียง 8.8% เท่านั้น ซึ่งล่าช้ากว่าคาดและยังต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งในข้อเท็จจริง งบฯกลุ่มจังหวัดจำนวน 15,839 ล้านบาทดังกล่าว จะเป็นงบฯที่เข้ามาขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคเหนือ แต่การเบิกจ่ายที่ต่ำและล่าช้า ก็อาจส่งผลให้โครงการลงทุนต่าง ๆ ต้องล่าช้าตามไปด้วย

ขณะที่อีกประเด็นหนึ่งก็พบว่า รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 64% จากระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นถึง 72.9% จากปริมาณข้าวนาปรังที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับปกติจากฐานที่ต่ำในปีก่อน และอ้อยโรงงานเก็บเกี่ยวช่วงปลายฤดูมาในช่วงไตรมาสนี้ แต่ในภาพรวมราคาสินค้าเกษตรต่ำกว่าปีก่อนมาก ส่งผลให้ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัว -5.3% ตามราคาข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และลำไย

นอกจากนี้ก็พบว่าการบริโภคภาคเอกชนยังไม่เข้มแข็ง และมีทิศทางไม่ชัดเจน อยู่ในระดับ 0.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนอยู่ที่ 4.6% แม้จะมีการเพิ่มขึ้นในหมวดสินค้าคงทน โดยเฉพาะปริมาณจดทะเบียนรถยนต์เพิ่มขึ้นถึง 13.2% เทียบกับไตรมาสที่ 1 อยู่ที่ -9.1%

ขณะเดียวกัน การลงทุนภาคเอกชนก็ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในภาคการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ยังซบเซา จากพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ที่หดตัว -6.4% โดยยอดคงค้างสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ให้แก่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังหดตัว สะท้อนจากการเปิดโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่มีน้อยลง รวมถึงยอดโอนอสังหาริมทรัพย์ก็ยังซบเซาด้วยเช่นกัน เนื่องจากขาดแรงส่งจากนักลงทุน

ท่วม 44 จังหวัด – ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.-3 ส.ค. 2560 มีพื้นที่เกิดอุทกภัยและน้ำไหลหลาก44 จังหวัด รวม 258 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบ 385,824 ครัวเรือน จำนวน 1,218,003 คน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 34 จังหวัด ยังคงมีน้ำท่วมในภาคอีสานเหลืออยู่9 จังหวัด และภาคกลาง 1 จังหวัด แต่ต้องรอดูพายุฝนในช่วงสัปดาห์หน้านี้ด้วย

ค้าชายแดนเมียนมา-ลาวหดตัว

ส่วนประเด็นการส่งออก Nonborder ยังขยายตัวได้ดี แต่การส่งออกสินค้าชายแดนไปประเทศเมียนมา และ สปป.ลาว ยังหดตัว -7.9% โดยสินค้าที่ส่งไปเมียนมา มียอดส่งออกลดลงในหมวดสินค้าโทรศัพท์พร้อมอุปกรณ์ เครื่องจักรกลการเกษตร และน้ำตาลทราย ขณะที่สินค้าหมวดอุปโภคบริโภค สุกรมีชีวิตและรถยนต์บรรทุกไป สปป.ลาวก็ลดลงเช่นกัน เนื่องจากทางการจีนเข้มงวดการนำเข้าสินค้าผ่านช่องทางชายแดนมากขึ้น

ทั้งนี้ เสถียรภาพเศรษฐกิจของภาคเหนือไตรมาสที่ 2 แม้จะมีเครื่องชี้หลายตัวที่สะท้อนถึงการหดตัว หรือชะลอตัว แต่ก็ยังมีเครื่องชี้ที่ยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีอยู่ ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี

ด้านนายกฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า งบฯกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน) จำนวน 311 ล้านบาท ขณะนี้การเบิกจ่ายมีความคืบหน้าราว 63% ซึ่งในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ได้รับงบประมาณก้อนนี้ 171 ล้านบาท โดยโครงการของหลายหน่วยงานอยู่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งนี้ คาดว่าจากนี้ไปจนถึงเดือนกันยายน จะสามารถทำการเบิกจ่ายงบประมาณได้เพิ่มขึ้นถึงระดับ 80%

เอกชนอีสานเร่งฟื้นฟูกิจการหลังอุทกภัยใหญ่เริ่มคลี่คลาย วอนรัฐบาลทำจริงจังเรื่องบริหารจัดการน้ำ วางผังเมืองเข้ม ขณะที่การช่วยเหลือด้านการเงินต้องประเมินจากข้อเท็จจริงมากกว่าใช้หลักเกณฑ์ปกติ ด้านร้านค้ายังไม่กล้าสต๊อกของ หวั่นน้ำท่วมรอบใหม่

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)รายงานสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องหลายพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.-3 ส.ค. 2560 ทำให้เกิดอุทกภัยและน้ำไหลหลาก 44 จังหวัด รวม 258 อำเภอ 1,167 ตำบล 8,198 หมู่บ้าน 43 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 385,824 ครัวเรือน 1,218,003 คน ผู้เสียชีวิต 23 ราย สูญหาย 2 คน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 34 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 10 จังหวัด เป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 จังหวัด และภาคกลาง 1 จังหวัด แต่ยังต้องจับตาพายุฝนรอบใหม่ด้วย

ผลกระทบไม่ต่ำหมื่นล้าน

นายมงคล ตันสุวรรณ ประธานหอการค้ากลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (มุกดาหาร สกลนคร นครพนม) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเมินความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้คาดว่าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ผู้ประกอบการทั้งโรงแรม ที่พัก ท่องเที่ยว และเกษตรกร ประชาชน สำหรับเกษตรกรที่ทำประกันภัยไว้จะได้รับค่าชดเชยไร่ละ 1,260 บาท รวมถึงการจ้างรายวัน เมื่อธุรกิจถูกชัตดาวน์ พนักงานแทบไม่ได้ทำอะไร

ทั้งนี้มองว่าเบื้องต้นเอกชนต้องฟื้นฟูตัวเอง ซึ่งจะฟื้นฟูได้เร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐและธนาคาร อาทิ การปล่อยกู้เพิ่มเติม การกำหนดวงเงินให้ครอบคลุมความเสียหาย และการยืดเวลาชำระหนี้ให้ยาวขึ้น เพราะภาคอีสานปัจจุบันเศรษฐกิจภาพรวมไม่โตมาก แม้ว่าจีดีพีภาพรวมประเทศจะอยู่ที่ 3.2% ขณะที่ภาคอีสานไม่ถึง แต่เราพออยู่ได้ก็มาเกิดน้ำท่วมซ้ำเติม

“ต้องขอความเห็นใจเรื่องการให้วงเงินที่เหมาะสมในการฟื้นฟู บางธนาคารให้รายละ 5 หมื่นบาท อาจเหมาะกับรายย่อย ๆ แต่สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ความเสียหายไม่น้อยกว่า 5-10 ล้านบาท ต้องประเมินจากข้อเท็จจริงมากกว่าใช้หลักเกณฑ์ปกติ”

นายมงคลกล่าวอีกว่า ภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วม รัฐบาลต้องคิดจริงจังเรื่องการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะเรื่องผังเมืองต้องยกให้เป็นกระทรวงได้แล้ว เพราะเป็นเรื่องสำคัญมากต่อการลงทุน บ้านเราลูบหน้าปะจมูก เช่น การตั้งห้างค้าปลีกที่ต้องอยู่ห่างเมืองไม่ต่ำกว่า 10 กิโลเมตร แต่เปิดช่องให้ทำประชามติ ซึ่งที่ผ่านมาก็ผ่านทุกห้าง แล้วการเข้ามาอยู่ใจกลางเมืองเป็นการเข้ามาทำลายนิเวศธุรกิจ ทำให้รายย่อยต่าง ๆ อยู่ไม่ได้ รวมถึงการก่อสร้างถมที่ยกสูงไปทับแก้มลิงธรรมชาติ และแก้ปัญหาด้วยการทำทางระบายน้ำซึ่งแออัด ทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซากในภาคต่าง ๆ หากเป็นอย่างนี้ระยะยาวประเทศไทยแย่แน่นอน

อีสานล่าง 2 ชะลอขนส่งสินค้า

ด้านนายวิทยา วิรารัตน์ ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง 2 (อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดทางภาคอีสาน ขณะนี้กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง 2 ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก มีเพียงพื้นที่การเกษตรของอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ที่ได้รับความเสียหายประมาณ 1 พันไร่ ซึ่งขณะนี้กำลังเตรียมรับมือมวลน้ำจากสกลนคร โดยเฉพาะภาคการค้าตอนนี้ร้านค้าส่วนใหญ่ไม่กล้าสต๊อกสินค้า ทำให้การขนส่งสินค้าชะลอตัว เพราะกังวลว่ามวลน้ำจะไหลบ่าเข้ามาในพื้นที่ แต่คาดว่าหากมวลน้ำผ่านไปแล้ว ทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ขณะที่มาตรการฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำลด จะต้องดูว่าได้รับความเสียหายมากน้อยแค่ไหน เบื้องต้นหากร้านค้าใดได้รับผลกระทบ สินค้าเสียหาย ทางหอการค้าได้ติดต่อซัพพลายเออร์ เพื่อขอเปลี่ยนหรือเคลมสินค้า หากร้านค้าที่เสียหายมาก อาจจะช่วยเจรจากับธนาคารให้ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ หรืองดดอกเบี้ย 1-2 เดือน

“มองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจภาคอีสานตอนล่าง 2 นั้น ในไตรมาส 3 ดีกว่าไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงสิ้นปีงบประมาณ หน่วยราชการต้องรีบใช้เงิน ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการซื้อขาย ส่งผลให้เกิดเงินสะพัดในตลาด ขณะเดียวกันกลุ่มหอการค้าพยายามจะจัดอีเวนต์เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อและเปิดตลาดใหม่ ๆ โดยนำสินค้าจากนักธุรกิจ เอสเอ็มอี สินค้าโอท็อประดับ 5 ดาว มาเปิดตลาดในกลุ่มจังหวัด รวมถึงนำนักธุรกิจที่แข็งแรงและเติบโตไปจัดอีเวนต์ในประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย” นายวิทยากล่าว

โคขุนโพนยางคำกระทบ 50%

ด้านนายสุชิน วันนาพ่อ รองประธานกรรมการที่ 1 สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลาง โพนยางคำ จำกัด เปิดเผยว่า ธุรกิจการเลี้ยงโคขุนโพนยางคำได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากนับตั้งแต่เกิดปัญหาน้ำท่วมวันที่ 29 ก.ค. 60 เป็นต้นมา โดยมีระดับน้ำท่วมสูงเฉลี่ย 3 เมตรในพื้นที่เขตปฏิบัติงานของสหกรณ์ทั้งในจังหวัดสกลนคร และนครพนม เนื่องจากโคไม่มีที่อยู่ และยังเริ่มขาดแคลนอาหาร เพราะไม่สามารถขนส่งอาหารเม็ดจากสหกรณ์ไปให้กับสมาชิก ซึ่งปกติจะต้องส่งอาหาร 3-4 หมื่นถุงต่อเดือน

ปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิกประมาณ 6,000 ราย จาก 22 กลุ่ม มีโคขุนในระบบกว่า 12,000 ตัว ซึ่งทุกเดือนจะมีการขุนโคเพิ่ม 800 ตัว/เดือน และนำเข้าโรงเชือด 650 ตัว/เดือน โดยมีอุปสรรคในการขนส่งเนื้อจากโรงเชือดและวัว เนื่องจากถนนบางสายถูกน้ำท่วมไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ขณะที่ผู้รับซื้อเนื้อโคก็ไม่สามารถเดินทางมารับเนื้อได้ บางรายจึงหยุดการขายในช่วงนี้ แต่ยังพอมีเนื้อที่มาจากห้องเย็นในจังหวัดส่งให้ตลาดใหญ่ที่วังทองหลาง สุขุมวิทได้ แม้จะเริ่มชะลอตัวลงก็ตาม

ทั้งนี้ ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ชัดเจน คาดว่าอยู่ในหลักล้านบาท เนื่องจากสมาชิกประมาณ 50% ถูกน้ำท่วมมากน้อยตามระดับพื้นที่ และยังต้องรอดูสภาพอากาศต่อไป

การส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยมีการรวมกลุ่มผลิตสินค้าทางการเกษตรร่วมกัน มีการบริหารจัดการร่วมกันตั้งแต่การผลิต การจัดหาปัจจัยการผลิต รวมถึงการจำหน่าย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ยกระดับสินค้าให้ได้มาตรฐาน และสามารถแข่งขันในตลาดภายใต้การสนับสนุนอย่างบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร ในการพัฒนาการผลิตสินค้าสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนตามหลักการบริหารตามแนวประชารัฐ

นายมีศักดิ์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ในปี 2560 กรมประมงได้เตรียมแผนดำเนินการโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่โดยส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ในการวางระบบการผลิตและบริหารจัดการการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ในปี 2560 กรมประมงตั้งเป้าหมายรวมกลุ่มแปลงใหญ่เพิ่มขึ้น จำนวน 18 แปลง รวมแปลงเดิมในปี 2559 จำนวน 7 แปลง รวมเป็น 25 แปลง (ปัจจุบันมีการเข้าร่วมโครงการฯ 27 แปลงซึ่งเกินจากเป้าหมายที่กำหนดไว้)มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 2,450 ราย

มีพื้นที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 33,993 ไร่ ครอบคลุมในเขตพื้นที่ต่างๆ อาทิ พื้นที่ในเขตชลประทาน พื้นที่ปฏิรูปที่ดิน พื้นที่ในเขตสหกรณ์นิคม และพื้นที่เกษตรทั่วไปโดยมีเจ้าหน้าที่ กรมประมงร่วมเป็น “ผู้จัดการแปลง” มีหน้าที่ประสาน สนับสนุน อำนวยความสะดวกในการพัฒนาสมาชิกในแปลงใหญ่มาร่วมกำหนดเป้าหมายการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุกขั้นตอนจนถึงการเชื่อมโยงตลาดกับภาคเอกชนแบบประชารัฐเพื่อให้เกษตรกรมีความมั่นคงในอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและสามารถประกอบอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้

ร.ต.สมพงษ์ ไชยสง เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจังหวัดขอนแก่น เล่าถึงเส้นทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำว่า เดิมผมรับราชการทหารและได้ลาออกจากราชการเมื่อปี 2548 หลังจากนั้นได้นำเงินที่เก็บสะสมมาซื้อที่ดินจำนวน 14 ไร่ บริเวณบ้านหนองนางขวัญ ตำบลเมืองเพีย จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากเล็งเห็นว่ามีคลองส่งน้ำ ด้วยพลังงานไฟฟ้าไหลผ่าน อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวอยู่ติดกับแก่งละว้าที่ถือว่าเป็นพื้นที่แก้มลิงของจังหวัดขอนแก่นผมจึงมีแนวคิดที่จะทำการเกษตรแบบผสมผสานกับการเลี้ยงปลา ผมเริ่มศึกษาความรู้ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเพาะเลี้ยงปลาและทำการเกษตรแบบผสมผสานจากหน่วยงานของประมงในพื้นที่ อาทิ การใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการเลี้ยงปลา การทำปุ๋ยชีวภาพ การทำอาหารปลาแบบพื้นบ้านเพื่อลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบไม่ใช้ยาและสารเคมี อีกทั้งฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำยังเป็นฟาร์มระบบปิด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกระบวนการผลิตของฟาร์มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากจะไม่มีการปล่อยของเสียออกนอกฟาร์ม

ปัจจุบันฟาร์มของผมมีเนื้อที่ทั้งหมด 56 ไร่และได้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้เป็นแนวทางหลักในการพัฒนาฟาร์มโดยภายในฟาร์มได้เลือกปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจที่เป็นที่ต้องการของตลาดหลากหลายชนิด อาทิ ปลานิล ปลาตะเพียนขาว ปลาช่อน เป็นต้น แต่เนื่องจากพื้นที่ฟาร์ม เป็นพื้นที่ดินเค็มผมจึงนำกุ้งขาวแวนนาไมและปลากะพงขาวมาเลี้ยงในบ่อเพื่อสร้างความหลากหลายให้กับสินค้าภายในฟาร์มของผมมากยิ่งขึ้น ในช่วงปี 2559 ทางฟาร์มได้ผลผลิตปลาและกุ้งขาวทั้งหมดรวม 11,950 กก. แบ่งเป็น ปลานิล 9,000 กก. ปลาตะเพียนขาว 2,000 กก. ปลากะพงขาว 400 กก. กุ้งขาว 550 กก. รวมรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 740,000 บาท นอกจากนี้ผมยังปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงเป็ด ห่าน และไก่ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมอีกทางหนึ่งด้วย ต้องยอมรับว่าปัจจุบันผมมีรายได้เลี้ยงครอบครัวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากในอดีต

หลังจากที่ผมทำอาชีพเกษตรกรรมและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว เริ่มมีพี่น้องและประชาชนในพื้นที่หันมาศึกษาดูงานมากยิ่งขึ้นผมจึงมีแนวคิดที่จะรวมตั้งกลุ่มเลี้ยงปลาบ้านหนองนางขวัญขึ้นเมื่อปี 2556 โดยมีผมรับหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม หลังจากนั้นผมได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานราชการให้เป็นเกษตรอาสาและประมงอาสาประจำตำบลเมืองเพีย อีกทั้งยังได้มีโอกาสเป็นวิทยากรไปถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยใช้ฟาร์มของผมเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจอีกด้วย ล่าสุดในปี 2558 กลุ่มผู้เลี้ยงปลาบ้านหนองนางขวัญได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 3 ในการประกวดกลุ่มเศรษฐกิจต้นแบบจากจังหวัดขอนแก่น ปัจจุบันฟาร์มของผมได้เข้าร่วมโครงการเกษตรแบบแปลงใหญ่อีกทั้งได้เป็นเครือข่ายในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของทางภาครัฐให้เกษตรกรในพื้นที่ได้ทราบอีกด้วย

นายมีศักดิ์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า การรวมกลุ่มทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จะก่อให้เกิดขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น (Economy of Scale) แต่ทั้งนี้จะต้องเกิดจากความพร้อมใจกันของเกษตรกร ชุมชนต้องมีความเข้มแข็งที่สำคัญคือความเสียสละเพื่อส่วนรวม ความโปร่งใสในการบริหารจัดการ จะต้องทำให้เห็นความสำเร็จเป็นตัวอย่างจริง กรมประมงจึงขอเชิญชวนให้เกษตรกรหันมารวมกลุ่ม กันทำเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อช่วยกันร่วมพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ตรงตามความต้องการของตลาด ตลอดจนให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ถือเป็นต้นทุนสำคัญของภาคปศุสัตว์ ปัญหาที่เกิดในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์จึงเชื่อมโยงตั้งแต่เกษตรกรถึงผู้บริโภค แต่ละปีอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีกำลังการผลิต 20 ล้านตัน ทำให้มีความต้องการใช้วัตถุดิบทั้ง ข้าว มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง ปลาป่น และข้าวโพดอย่างมาก แต่วัตถุดิบมีไม่เพียงพอจึงเกิดปัญหาตามมามากมาย

นายบุญธรรม อร่ามศิริวัฒน์ เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เล่าว่า ความต้องการใช้ข้าวโพดในแต่ละปี เฉลี่ย 8 ล้านตัน แต่ไทยปลูกได้ 4.6-5.0 ล้านตัน จึงต้องนำเข้าวัตถุดิบอื่น เช่น ข้าวสาลี กากข้าวสาลี (DDGS) มาทดแทน 3 ล้านตัน เพื่อผสมให้ได้สารอาหารโปรตีนในระดับใกล้เคียงกับข้าวโพด ซึ่งมีโปรตีน 7-8% ส่วนข้าวสาลีมีโปรตีน 9-10% DDGS มีโปรตีน 25-30% เป็นเหตุให้กระทรวงพาณิชย์ต้องกำหนดมาตรการให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์รับซื้อข้าวโพด 3 ส่วนเพื่อรับสิทธินำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ไม่ให้กระทบชาวไร่

แต่ปัญหาสำคัญมาจากไทยปลูกข้าวโพดผิดวิธีและขาดประสิทธิภาพ โดยแต่ละปีปลูกข้าวโพดได้ 4.6-5 ล้านตัน แบ่งเป็น 3 ฤดูกาล คือ 1) ข้าวโพดต้นฝน เก็บเกี่ยวช่วงสิงหาคม-พฤศจิกายนของทุกปี มีสัดส่วน 70% ของผลผลิตทั้งหมด มักเกิดปัญหาผลผลิตออกพร้อมกัน เมื่อใช้รถเกี่ยวเกิดปัญหาเม็ดแตกบวกความชื้นสูง 30-40% จึงมักมีสารพิษอัลฟาทอกซิน

2) ข้าวโพดช่วงปลายฝน เก็บเกี่ยวช่วงฤดูหนาว ระหว่างธันวาคม-กุมภาพันธ์ อากาศแห้ง ความชื้นต่ำ คุณภาพดี มีสัดส่วนเพียง 25% ของผลผลิตทั้งหมด และ 3) ข้าวโพดหลังนา ปลูกหลังเกี่ยวข้าวนาปี มีสัดส่วนเพียง 5% ซึ่งอาจเรียก “โมเดล 70-25-5” ที่ทำให้คุณภาพไม่ดี ความชื้นสูง ราคาขายต่ำกว่าความเป็นจริง

อีกมิติหนึ่ง ข้าวโพดต้นฝน 70% เป็นข้าวโพดที่ปลูกในพื้นที่รุกป่าเกินครึ่ง ไม่มีเอกสารสิทธิ ส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้า เช่น สหภาพยุโรป แสดงความกังวลว่าเนื้อสัตว์จากไทยเลี้ยงด้วยอาหารสัตว์ที่ผลิตจากข้าวโพดในพื้นที่ผิดกฎหมาย ไทยจึงต้องเร่งแก้ไข

แนวทางการแก้ไขปัญหาข้าวโพดที่ผ่านมาได้ดำเนินการคู่ขนานกัน ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จัดทำยุทธศาสตร์ข้าวโพด เพื่อปรับโมเดลการปลูกจาก 70-25-5 เป็น 20-30-50 หมายถึง ลดพื้นที่ต้นฝนจาก 70% ให้เหลือ 20% และเพิ่มพื้นที่ข้าวโพดรุ่น 2 จาก 25% เป็น 30% และเพิ่มสัดส่วนข้าวโพดหลังนาจาก 5% เป็น 50%

โมเดลใหม่นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาคุณภาพข้าวโพด ลดการ กระจุกตัวที่ส่งผลต่อราคาข้าวโพดแล้ว อีกมิติยังเป็นการดึงพื้นที่นาราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีเอกสารสิทธิที่ดินถูกต้องมาปลูกข้าวโพดทดแทนลดปัญหาการรุกพื้นที่ป่าได้

นอกจากนี้ การปรับพื้นที่นาปรังมาปลูกข้าวโพด ยังได้ช่วยลดการใช้น้ำ และลดซัพพลายผลผลิตข้าวนาปรังได้อีกมิติหนึ่ง ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนโมเดลนี้ดำเนินการคู่ขนานกับการแก้ไขปัญหาการรุกป่าโดยภาครัฐ หากสำเร็จจะสร้างประโยชน์ต่อห่วงโซ่การผลิตอาหารของประเทศอย่างมาก ส่งผลดีต่อเกษตรกรไปจนถึงผู้บริโภค

เดือนสิงหาคมเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าวโพดครอปใหญ่ของปี 2560/2561 แต่ปัญหาเรื้อรังเดิมยังไม่ได้รับการสะสาง ทั้งผลผลิตลอตใหญ่ 70% ออกมากระจุกตัว-ชาวไร่ยังใช้ที่ดินผิดกฎหมาย และวัตถุดิบยังไม่เพียงพอผลิตอาหารสัตว์

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล” นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยถึงแนวทางแก้ไขปัญหาอาหารสัตว์ในฤดูกาลนี้ว่า

Q : ปรับโมเดลลดรุกป่า-ปลูกหลังนา

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำยุทธศาสตร์ข้าวโพดปรับโมเดลปลูกข้าวโพดจาก 70-25-5 เป็น 20-30-50 หมายถึง ลดปลูกข้าวโพดต้นฝน 70% ให้เหลือ 20% และเพิ่มข้าวโพดรุ่น 2 คุณภาพดีจาก 25% เป็น 30% และเพิ่มข้าวโพดหลังนาจาก 5% เป็น 50% เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพ และราคาข้าวโพดตกต่ำ

ตอนนี้รอเสนอคณะรัฐมนตรีของบประมาณโครงการปลูกข้าวโพดหลังนา 7 พันล้านบาทในช่วง 3 ปี เริ่มจากปี 2561/2562 เพื่อให้เงินสนับสนุนเกษตรกรไร่ละ 2,000 บาท และงบฯค่าจัดการต่าง ๆ บนพื้นที่เป้าหมาย 3.36 ล้านไร่ ใน 35 จังหวัด ส่วนภาคเอกชนจะไปตั้งจุดรับซื้อในราคา กก.ละ 8 บาท

Q : ลดการรุกป่ายังไม่คืบหน้า

พื้นที่ปลูกข้าวโพดต้นฝน 70% มีทั้งถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย แยกเป็นพื้นที่เขตป่า 3.72 ล้านไร่ พื้นที่ไม่เหมาะสม 0.89 ล้านไร่ รวมเป็น 4.61 ล้านไร่ คิดเป็น 50% ของพื้นที่ปลูกข้าวโพดทั้งหมดของประเทศ 7.84 ล้านไร่ ส่วนนี้ต้องลดไปเลย เพื่อคืนกลับเป็นพื้นที่ป่า ซึ่งภาครัฐ ฝ่ายทหาร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย ได้บูรณาการขอความร่วมมือชาวบ้าน แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะมีความอ่อนไหวมาก

ที่ผ่านมาสมาคมฯ ร่วมมือกับชุมชนแปลงพื้นที่ปลูกข้าวโพดให้เป็นป่า และมีเอกชนอีกหลาย ๆ บริษัท เช่น ซี.พี., ปตท. ช่วย ๆ กัน รวม 600-700 ไร่ แปลงไปปลูกพืชอื่น เช่น กาแฟ ทดแทน โดยมีสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ช่วยตรวจสอบควบคุม ขับเคลื่อนกันไป แต่คงต้องใช้เวลานานในการลดพื้นที่ตรงนี้ และปลูกทดแทนกัน

Q : ปีนี้จะหยุดซื้อข้าวโพดผิดกฎหมาย ต้องค่อย ๆ ลดซื้อข้าวโพดที่ปลูกโดยไม่มีเอกสารสิทธิตามโมเดล ปีละ 20% คงใช้เวลาอีก 5 ปี ในวันนี้ยังไม่เห็นภาพการปลูกข้าวโพดหลังนาทดแทนพื้นที่ผิดกฎหมาย เพิ่งเปลี่ยนได้ไม่กี่ร้อยไร่ ดังนั้น ปีการผลิต 2560/2561 สมาคมมีมติว่า จะไม่สนับสนุนการรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ แต่ไม่ได้บังคับขึ้นกับนโยบายแต่ละบริษัท และจำเป็นต้องสื่อสารไปให้ผู้นำเข้าต่างประเทศคลายความกังวล ถึงแม้ว่าตอนนี้ไม่มีมาตรการ แต่อนาคตมาแน่

Q : ทำไมไม่ใช้ไม้แข็งหยุดซื้อไปเลย

การคุมเลยย่อมทำได้ แต่ควรมีทางเลือกให้เกษตรกร การใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดมีความอ่อนไหวหลายด้าน ที่ผ่านมาพ่อค้าอ้างว่าโรงงานอาหารสัตว์ไม่ซื้อข้าวโพดที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เพื่อไปกดราคารับซื้อเกษตรกร เหลือ กก.ละ 1.50-2.00 บาท มาขายให้โรงงาน 8.00 บาท มีตัวเลขลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านมาขาย โดยอ้างว่าผลผลิตได้มากกว่า 4.5 ล้านตัน พอโรงงานไม่ซื้อ ก็ไปขายผู้ส่งออก ซึ่งไม่ถูกคุมราคา 8 บาท ยอดส่งออกเพิ่มถึง 700,000 ตัน ปีที่ผ่านมา หรือประกาศตูมหากไม่ซื้อจากเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ เท่ากับซัพพลายหายไปครึ่งหนึ่งเหลือ 2.5 ล้านตัน ทำให้วัตถุดิบที่ขาดเพิ่มจาก 3 เป็น 5.5 ล้านตัน สมมุติเป็นเช่นนั้นต้องมีทางออก เช่น ให้สิทธินำเข้าวัตถุดิบเสรีมาทดแทน เปิดนำเข้าข้าวโพดชายแดน หรือยกเลิกมาตรการซื้อข้าวโพด 3 ส่วนต่อการให้สิทธิ์นำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน เพื่อให้วัตถุดิบครบ 8 ล้านตัน ไม่เช่นนั้นโรงงานต้องหยุด รัฐต้องผลักข้าวโพด 2.5 ล้านตันส่งออก ส่วนข้าวโพดถูกกฎหมายจะมีราคาเท่าไรต้องไปถัวเฉลี่ยกับราคาวัตถุดิบนำเข้า

Q : รัฐจะคุมต้นทางคนขายเมล็ดพันธุ์

การไปจำกัดตรงนั้น ความยากจะมีอีกแบบ กระทรวงเกษตรฯขอความร่วมมือจากสมาคมเมล็ดพันธุ์ อย่าขายเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ

แต่สมาชิกของสมาคมไม่ได้ครอบคลุมบริษัทเมล็ดพันธุ์ทั้งประเทศ จะมีเมล็ดพันธุ์เถื่อนออกมาแน่นอน และด้วยกลไกการขายที่ต้องผ่านให้พ่อค้าคนกลาง ซึ่งคงมีการนำเมล็ดพันธุ์ไปปล่อยขายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ที่ไม่ถูกต้องที่ไปปล่อยเกี๊ยวกันไว้ก็ได้ หรือหากบริษัทใดประกาศไม่ขายเพียงบริษัทเดียว ก็กลายเป็นโอกาสทางการตลาดให้กับบริษัทอื่นที่ไม่ประกาศ เสี่ยงที่จะทำให้ราคาข้าวโพดตกต่ำลงไปอีก

Q : การแก้ปัญหาขาดวัตถุดิบปีนี้ ความต้องการใช้ข้าวโพด 8.1 ล้านตัน มีข้าวโพด 4.5 ล้านตัน จึงยังต้องใช้มาตรการ 3 ต่อ 1 นำเข้าข้าวสาลีอีก 1.5 ล้านตันแต่ก็ลดลงจากปีก่อน 3 ล้านตัน เพราะปีนี้ได้มีการประมูลซื้อข้าวสาร 2 ล้านตันจากสต๊อกรัฐทดแทนทำให้ในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้นำเข้าข้าวสาลี 5-6 แสนตัน แต่ยังไม่กระทบราคาข้าวโพดที่ตกลงกันไว้ กก.ละ 8 บาท ณ โรงงานกรุงเทพฯ การซื้อขายจริง ๆ เป็นไปตามดีมานด์-ซัพพลาย ซึ่งในช่วงนี้ราคาขยับขึ้น กก.ละ 8.20-8.30 บาท ปีนี้ไม่มีอะไร แต่ต้องคิดถึงปีหน้าถ้าไม่มีสต๊อกข้าวรัฐจะแก้เรื่องวัตถุดิบอย่างไร ต้องวางระบบตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายทาง ระบบตรวจสอบย้อนกลับ ตอนนี้กำหนดมาตรการควบคุมให้มาขึ้นทะเบียนแล้ว

Q : ปกป้องผู้ปลูกกระทบส่งออกปศุสัตว์

เรามีคู่แข่งทั้งสหรัฐ บราซิล แล้วยังมีเวียดนาม วันนี้มีพัฒนาด้านปศุสัตว์เท่ากับไทยแล้ว น่ากลัวมาก ๆ มีการนำเข้าข้าวโพดจากต่างประเทศปีละ 5 ล้านตัน ตอนนี้เร่งปลูกและใช้พืชจีเอ็มโอด้วย โรงฆ่าไก่ได้รับใบอนุญาตจากญี่ปุ่น ขณะที่ค่าจ้างแรงงานถูกเพียง 1 ใน 3 ของไทย แต่เวียดนามขยันกว่า ส่วนไทยแรงงานไม่มี ต้องใช้ต่างด้าวนี่คือสิ่งที่คุกคามธุรกิจ

Q : ทางออกที่ทุกฝ่ายรอด

การสร้างสมดุลคืออะไร ตอนนี้พยายามช่วยเกษตรกร โดยรับซื้อข้าวโพดตามเงื่อนไขของรัฐ ถามว่าเราแบกคนเดียวได้หรือ และต้องนำเข้าข้าวสาลีด้วย อีกด้านชายแดนมีตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ 1 ล้านตัน เป็นแรงกดดันราคา รัฐให้เราซื้อ 8 บาทก็ซื้อหมด แต่เราไม่ได้มีเงินถุงเงินถัง ตอนนี้เหมือนมีคนกลุ่มหนึ่งพยายามเอากำไรมากแล้วผลักภาระให้กับกลุ่มอาหารสัตว์ ขณะที่ต้นทุนเราโป่ง ตัวทดแทนไม่มี แต่อีกกลุ่มหนึ่งฟันกำไรส่วนต่าง อ้างยอดจาก 4.5 เป็น 5.5 ล้านตัน ถ้ายืนหยัดเดินไปใน 5 ปี ข้าวโพดพวกนี้จะหายไปเอง เพราะไม่มีเอกสารสิทธิ ปีหน้าคงมีมาตรการชัด ปีนี้คงไม่ทันแล้ว

Q : วางอนาคต 5 ปีข้างหน้า

สมาคมกำลังศึกษายุทธศาสตร์ 20 ปี เพื่อตอบ 3 โจทย์ GClub ทั้งความปลอดภัย (safety) ความมั่นคง (security) และความยั่งยืน (sustainablity) ประสานกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดทำมาตรฐานเพื่อความยั่งยืน เป็นดัชนีชี้วัดการใช้ทรัพยากร ว่าเราทำลายสิ่งแวดล้อมเท่าไร ถือเป็นมาตรฐานที่มาก กว่า GAP และมีความโปร่งใส