การทวนสอบกระบวนการจ้างแรงงานต่างชาติตั้งแต่ประเทศ

ต้นทางที่ LPN ร่วมกับซีพีเอฟจะช่วยสนับสนุนการดำเนินการจัดการเชิงรุก ในการป้องกันปัญหาค้ามนุษย์ การใช้แรงงานบังคับ และแรงงานผิดกฎหมายในทุกรูปแบบได้มากยิ่งขึ้น” นายสมพงค์ กล่าว

การดำเนินการของศูนย์ Labour Voices Hotline by LPN ปีที่ 2 จะมีการจัดอบรมให้แรงงานไทยและต่างชาติต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ยังเน้นเพิ่มทักษะการสื่อสารให้แก่แรงงาน เพื่อให้แรงงานสามารถติดต่อขอคำปรึกษา หรือร้องเรียนมาที่ศูนย์ Hotline ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงยังช่วยให้แรงงานมีทักษะสามารถให้คำปรึกษาแก่เพื่อนแรงงานได้อีกด้วย

นายปริโสทัต ปุณณภุม รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ กล่าวว่า ในปีนี้ ความร่วมมือกับมูลนิธิ LPN จะมุ่งเน้นเพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการจัดจ้างแรงงานต่างชาติของซีพีเอฟ โดยมูลนิธิ LPN จะนำประสบการณ์ที่เคยช่วยเหลือเหยื่อจากการค้ามนุษย์ เข้ามาช่วยดำเนินการทวนสอบกระบวนการจ้างแรงงานต่างชาติตั้งแต่ประเทศต้นทาง

เพื่อสร้างความมั่นใจว่าแรงงานของซีพีเอฟได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับงาน ค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์อย่างครบถ้วนก่อนตัดสินใจสมัครเข้ามาทำงานกับบริษัท รวมถึงตรวจสอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในกระบวนการสรรหาที่ประเทศต้นทางและเดินทางมาถึงประเทศไทยเป็นไปอย่างเหมาะสม ไม่ถูกเอาเปรียบหรือหลอกลวงให้จ่ายเกินความเป็นจริง

สำหรับความร่วมมือระหว่างซีพีเอฟ กับ มูลนิธิ LPN ตลอดระยะ 1 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ Labour Voices Hotline by LPN ซึ่งเป็นช่องทางรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อร้องเรียนของแรงงาน ที่รองรับภาษาไทย กัมพูชา และเมียนมา ได้ช่วยให้บริษัทสามารถดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและช่วยจัดการปัญหาของเพื่อนแรงงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการอบรมให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนแก่พนักงานของบริษัท ได้ช่วยให้พนักงานระดับแรงงานทั้งคนไทยและต่างชาติที่ทำงานในสถานประกอบการของซีพีเอฟ รวม 1,063 คน มีความตระหนักรู้และเข้าใจเรื่องสิทธิของแรงงานดีขึ้นอย่างชัดเจน และสามารถเข้าถึงสิทธิแรงงานที่พึงได้มากขึ้น

เมื่อระหว่างวันที่ 22-26 เมษายน 2562 การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นำโดยผู้ว่าการ กยท. ให้การต้อนรับ Minister Saw Aung Myint Khine รัฐมนตรีกระทรวงกิจการชาติพันธุ์กะเหรี่ยง พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่รัฐมอญ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ศึกษาการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบของ กยท. พร้อมดูงานด้านการวิจัย – พัฒนาคุณภาพยาง ต่อยอดการนำวัตถุดิบยางพาราสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาง

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า กยท. ต้อนรับรัฐมนตรีกระทรวงกิจการชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และคณะเจ้าหน้าที่รัฐมอญ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จำนวน 20 คน เพื่อเดินทางศึกษาดูงานการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบของ กยท. งานวิจัย เทคโนโลยีด้านยางพารา เพื่อพัฒนามาตรฐานยาง ตลอดจนการแปรรูปวัตถุดิบยางสู่ผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งถือเป็นการให้ความร่วมมือในฐานะประเทศสมาชิกของสภาวิจัยและพัฒนายางระหว่างประเทศ (the International Rubber Research and Development Board : IRRDB)

ผู้ว่าการ กยท. กล่าวเพิ่มเติมว่า การดูงานครั้งนี้ กยท. ได้นำคณะเจ้าหน้าที่รัฐมอญศึกษาดูงานกระบวนการทดสอบมาตรฐานคุณภาพยาง การวิจัยและแปรรูปยางสู่ผลิตภัณฑ์ยาง ณ สถาบันวิจัยยาง และฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง ของ กยท. จากนั้นนำคณะเดินทางไปยังศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา เพื่อชมแปลงเพาะขยายพันธุ์ยาง และเข้าเยี่ยมชม บริษัท ไทยอีสเทิร์น รับเบอร์ จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกยาง STR 20 ของไทย โดยถือเป็นการสร้างโอกาสเข้าไปลงทุนด้านอุตสาหกรรมยางในรัฐมอญในอนาคตได้

นอกจากนี้ ได้เข้าศึกษาการจัดการของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเขาซก จำกัด ซึ่งเป็นสหกรณ์แห่งแรกของไทยที่มีการแปรรูปและส่งออกยาง STR 20 ถือเป็นโอกาสที่ดีในการศึกษาเรื่องการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อยเป็นสถาบันเกษตรกรที่มีความเข้มแข็ง จากนั้น กยท. ได้นำคณะเข้าชมพิพิธภัณฑ์ยางพารา “Rubber Land” จังหวัดชลบุรี และเข้าศึกษากระบวนการแปรรูปยางแผ่นรมควันของบริษัท สุภาคย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตและส่งออกยางให้กับผู้ผลิตยางล้อที่มีชื่อเสียง จึงถือได้ว่าการเดินทางมาศึกษาดูงานของคณะเจ้าหน้าที่รัฐมอญครั้งนี้ เป็นการได้ศึกษายางพาราทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.อนุมัติมาตรการพยุงเศรษฐกิจกลางปี 2562 วงเงิน 13,200 ล้านบาท ประกอบด้วยมาตรการการเพิ่มเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้กับคน 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

1. กลุ่มผู้ปกครองที่มีลูกหลานกำลังเรียน จะได้รับเงินช่วยเหลือคนละ 500 บาท ต่อบุตร 1 คน ซึ่งรับครั้งเดียว เพื่อซื้อชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน 2. กลุ่มเกษตรกร ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะได้รับเงินคนละ 1,000 บาท เพื่อนำไปซื้อปุ๋ยไว้ใช้ทำการเกษตร ซึ่งเป็นการจ่ายครั้งเดียว ครอบคลุมเกษตรกรจำนวนประมาณ 4.1 ล้านคน

3. กลุ่มผู้พิการ ที่ขึ้นทะเบียนไว้และถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับเบี้ยเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ย. 2562 และ 4.กลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ขึ้นทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 5 ล้านคน จะได้รับเงินไปใช้ซื้อของผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐคนละ 500 บาทเท่ากันหมด จากเดิมที่ได้คนละ 200 หรือ 300 บาท ในเดือนพ.ค.-มิ.ย. 2562

นอกจากนี้ยังมีมาตรการทางภาษี ทั้งการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ให้ลดหย่อนภาษีแก่ผู้ที่ซื้อบ้านหลังแรกที่มีราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ไปจนถึงสิ้นปี 2562 วงเงินลดหย่อนไม่เกิน 1 แสนบาท

รวมถึงมาตรการภาษีลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคล เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวทั่วไทย วงเงินหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท ในเมืองหลักและเมืองรองไม่เกิน 20,000 บาท พร้อมกันนี้ยังมีมาตรการเพื่อสนับสนุนการศึกษาและกีฬา ไม่เกิน 15,000 บาท ไม่รวมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ตาม มาตรการทั้งหมดเชื่อว่าจะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.9 ในปี 2562 จากเดิมที่ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.8

องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ให้การสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรและสหกรณ์โคนมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่เกษตรกรและสหกรณ์ฟาร์มโคนมไทย ทั้งการให้ความรู้การจัดตั้งฟาร์มโคนม การเลี้ยงโคนม การดูแลและบริหารจัดการกิจการฟาร์มโคนมแก่เกษตรกรทุกด้าน ทั้งด้านการจัดการฟาร์ม ด้านการจัดการอาหารที่เพียงพอต่อโคนมในฟาร์มของเกษตรกร รวมถึงการจัดการฟาร์ม และยังพัฒนาพันธุ์โคนมให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในประเทศไทยที่มีอากาศร้อน ในขณะเดียวกันโคนมก็ยังสามารถผลิตน้ำนมได้มากขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรได้ผลผลิตน้ำนมดิบเพิ่มและทำกำไรให้แก่เกษตรกรมากขึ้น

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า การเลี้ยงโคนมให้มีกำไรสามารถทำได้โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคนม สำหรับในประเทศไทยเรื่องที่ต้องมีการปรับปรุง พัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคนม มี 3 เรื่องหลักๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการจัดการฟาร์ม คือ 1.การบริหารจัดการอาหาร 2.การบริหารจัดการฟาร์มที่ต้องควบคุมอุณหภูมิคอกพัก 3.บริหารจัดการคอกโคนมให้ปลอดโปร่ง ไม่ร้อนชื้น พื้นไม่เปียกแฉะ โดย 3 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้โคนมเพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านการบริหารจัดการอาหารที่เพียงพอต่อจำนวนโคนมในฟาร์มเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก การให้อาหารโคนม คือ การให้อาหารข้น และอาหารหยาบ ที่เป็นแหล่งของพลังงาน โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุที่สำคัญ รวมถึงการให้อาหารโคนมในสัดส่วนที่เหมาะสม เพียงพอต่อความต้องการโคนม ครบถ้วน สมบูรณ์ โคนมจะได้รับ โปรตีน แร่ธาตุ และวิตามิน ที่เพียงพอ และการให้อาหารโคนมที่สม่ำเสมอ คุณภาพของอาหาร และสูตรอาหารที่เหมือนเดิมทุกมื้อ ซึ่งเป็นหลักการให้อาหารเพื่อที่จะทำให้โคนมให้ผลผลิตเป็นไปตามความสามารถทางพันธุกรรม (จากการปรับปรุงพันธุ์ โคนมของไทยสามารถให้ผลผลิตน้ำนมเฉลี่ย 20-25 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน)

การควบคุมอุณหภูมิคอกพักนั้น โคนมสามารถอยู่ได้ดีในพื้นที่ที่มีอุณภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิบริเวณที่โคนมอยู่หรือบริเวณคอกพักเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้โคเกิดความเครียดจากความร้อน ส่งผลให้กินอาหารลดลง ผลที่ตามมาคือปริมาณผลผลิตน้ำนมก็จะลดลงด้วย ดังนั้นการสร้างคอกพักโคนมควรจะสูงโปร่ง สามารถระบายความร้อนได้ดี หรือมีระบบการทำความเย็นในคอกพัก เช่น การติดพัดลม การติดตั้งระบบสเปรย์น้ำ การอาบน้ำให้โคนมเป็นต้น นอกจากนั้นไม่ควรเลี้ยงโคนมที่หนาแน่นเกินไป ซึ่งจะส่งผลต่อการระบายความร้อนในคอกพัก โดยทั่วไปหากเลี้ยงโคนมแบบขังในคอก (Loose barn) ต้องมีพื้นที่ประมาณ 20-22 ตารางเมตรต่อตัว หากเลี้ยงในโรงเรือนแบบซองนอน (Free stall) จะใช้พื้นที่ประมาณ 11 ตารางเมตรต่อตัว

ส่วนบริเวณคอก โคนมต้องการอยู่ในพื้นที่ที่แห้ง มีพื้นที่นุ่ม ไม่ลื่น ซึ่งการเลี้ยงโคนมในพื้นที่ที่แห้งจะช่วยลดการเป็นโรคเต้านมอักเสบ ตัวโคนมไม่สกปรก จึงเป็นการลดการใช้น้ำในการล้างตัวโคนมก่อนรีดนม ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดระยะเวลาในกระบวนการรีดนมด้วย ฟาร์มที่คอกพักเป็นพื้นคอนกรีต จะพบการเกิดแผลกดทับจากการนอนเพราะโคนมมีน้ำหนักมาก ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการใช้วัสดุรองพื้น เช่น แผ่นยาง เป็นต้น บริเวณคอกพักโคนมควรมีหลังคาคลุมตลอดเพื่อกันแดด กันฝน จะทำให้โคนมอยู่ในที่แห้งและเย็นสบาย

จากการจัดการพื้นฐานทั้ง 3 ข้อนี้ วัตถุประสงค์เพื่อทำให้โคนมกินอาหารได้มากที่สุด จะนำไปสู่การแสดงออกของความสามารถทางพันธุกรรม โคนมให้ผลผลิตน้ำนมดิบได้เต็มที่ น้ำนมได้คุณภาพ ทั้ง 3 ปัจจัย ดังกล่าว ยังสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิตน้ำนมลง เมื่อเกษตรกรได้ผลผลิตน้ำนมดิบเพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้เกษตรกรมีกำไรจากการเลี้ยงโคนมมากขึ้น ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าว

องค์การส่งเสริมกิจการโคมนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) สนองนโยบายขับเคลื่อนการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวตกรรมใหม่ ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะต้นสังกัด อ.ส.ค.ได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาและวิจัยทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องทั้งภายในและภายนอกองค์กร การวิจัยต้นน้ำนั้นเกี่ยวข้องกับเกษตรกรและสหกรณ์โคนม การวิจัยกลางน้ำเกี่ยวข้องด้านอุตสาหกรรมโรงงานที่อยู่ในการควบคุมดูแล รวมถึงกระบวนการผลิตควบคู่ไปด้วย

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ล่าสุด ทีมงานฝ่ายวิจัยและพัฒนาการเลี้ยงโคนมของ อ.ส.ค. สร้างประวัติศาสตร์คว้ารางวัลเหรียญทองสิ่งประดิษฐ์เวทีโลก ในงาน The 47th International Exhibition of Inventions Geneva ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่าง วันที่ 10 – 14 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ผลงานการพัฒนาที่ส่งเข้าประกวด คือ Solar Powered Mini Truck รถบรรทุกสามล้อขนาดเล็กที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

ซึ่งเป็นผลงานการพัฒนาของ ดร.ณัฐภร แก้วประทุม นักวิชาการเกษตร 6 สังกัดฝ่ายวิจัยและพัฒนาการเลี้ยงโคนม ซึ่งช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการขนส่งน้ำนมดิบ Solar Powered Mini Truck สามารถบรรทุกน้ำหนักสูงสุดได้ถึง 500 กิโลกรัม โดยระยะทางในการขับขี่ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง คือ 150-200 กิโลเมตร เกษตรกรสามารถใช้บรรทุกขนส่งน้ำนมดิบจากฟาร์มไปยังศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบได้ถึง 6 ถัง บรรจุถังละ 50 กิโลกรัม ทำให้ประหยัดค่าขนส่ง ไม่มีค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง

ซึ่งเดิมเกษตรกรยังใช้รถซาเล้ง 3 ล้อพ่วงข้างในการขนส่งน้ำนมดิบ จึงทำให้ อ.ส.ค. เริ่มคิดค้น Solar Powered Mini Truck พัฒนารถสามล้อบรรทุกนมขึ้นมา เพื่อความสะดวก ประหยัดพลังงาน ช่วยลดต้นทุนในการขนส่งน้ำนมดิบไปยังศูนย์รวมน้ำนมดิบแก่เกษตรกร นอกจากนี้ Solar Powered Mini Truck ยังสามารถนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่นำไปใช้อเนกประสงค์ภายในฟาร์มโคนมอีกด้วย

Solar Powered Mini Truck นับเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในเวทีระดับโลก โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 47 ของการจัดงาน ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลสวิส และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ซึ่งเป็นงานประกวดสิ่งประดิษฐ์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีผู้เข้าชมงานกว่า 60,000 คน มีผลงานสิ่งประดิษฐ์เข้าประกวดกว่า 1,000 ผลงาน จากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก Solar Powered Mini Truck นอกจากคว้ารางวัลเหรียญทองแล้ว ยังได้รับรางวัลพิเศษ (Special Prize)

จาก สถาบันวิศวกรรมส่วนประกอบยานอวกาศ (Institute of space device engineering) ของหน่วยปฏิบัติการจรวดและยานอวกาศรัสเซีย (United rocket and Space Corporation) ซึ่งเป็นสาขาของการรถไฟรัสเซีย (The Brach of JSC) ซึ่งเป็นหน่วยงานร่วมทุนของรัฐบาลรัสเซียที่ใหญ่ที่สุดของโลกอีกด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับหน่วยงานขององค์กร อ.ส.ค. เป็นอย่างยิ่ง และ อ.ส.ค. จะมุ่งพัฒนา ต่อยอด ยกระดับเกษตรกรและสหกรณ์ฟาร์มโคนมเทียบเท่ามาตรฐานระดับสากลต่อไป ดร. ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติม

ส้มโอ เป็นผลไม้เศรษฐกิจสำคัญชนิดหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ ปลูกมากในพื้นที่อำเภอบ้านแท่นและอำเภอเกษตรสมบูรณ์ ส่วนส้มโอพันธุ์เนื้อแดงที่มีความแปลกใหม่ของ จังหวัดชัยภูมิ ถูกค้นพบโดย รศ.ดร.สังคม เตชะวงศ์เสถียร แห่งภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อยกย่องส้มโอเนื้อแดงให้เป็นสินค้าอัตลักษณ์เด่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย จึงตั้งชื่อใหม่ว่า “ส้มโอมณีอีสาน”

จุดกำเนิด “ส้มโอมณีอีสาน” ส้มโอเนื้อแดงพันธุ์ใหม่ของจังหวัดชัยภูมิ ถูกค้นพบใน โครงการวิจัยระบบการผลิตส้มโอคุณภาพดีและสร้างอัตลักษณ์ของส้มโอจังหวัดชัยภูมิ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีเป้าหมายผลักดันให้ ส้มโอพันธุ์ใหม่นี้ กลายเป็นของดีประจำจังหวัดชัยภูมิและเพิ่มมูลค่าทางตลาดแก่เกษตรกรชาวสวนส้มโอ
ตั้งแต่ปี 2550-2560

คณะนักวิจัย ภายใต้การนำของ รศ.ดร.สังคม เตชะวงศ์เสถียร แห่งภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ศึกษาวิจัยส้มโอพันธุ์ทองดีซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่มีศักยภาพของจังหวัดชัยภูมิ ที่มีลักษณะเด่นทั้งเปลือกบาง เนื้อมีรสหวานฉ่ำ คุณภาพเกรดส่งออก เมื่อศึกษารายละเอียดในแต่ละช่วงการผลิต พบว่า ส้มโอชัยภูมิมีคุณภาพใกล้เคียงกับส้มโอพันธุ์ทองดีจากแหล่งปลูกอื่น แต่กลับขายได้ในราคาที่ต่ำกว่า

ต่อมาคณะนักวิจัยได้ค้นพบส้มโอพันธุ์เนื้อแดง ซึ่งเป็นพันธุ์ดั้งเดิมที่ชาวบ้านได้นำต้นกล้ามาปลูกแล้วกลายพันธุ์ ลักษณะเด่นของส้มโอพันธุ์นี้ คือเนื้อส้มโอมีสีแดงเข้ม เนื้อแน่น ไม่แฉะ เนื้อส้มโอที่เรียกว่า “กุ้ง” มีลักษณะตรงยาวเรียงตัวเป็นระเบียบ การค้นพบส้มโอเนื้อแดงพันธุ์ใหม่ ทำให้คณะนักวิจัยสนใจที่จะพัฒนาต่อยอดงานวิจัย เรื่อง “ส้มโอพันธุ์เนื้อแดง” ที่มีรสหวานอมเปรี้ยว ให้กลายเป็นส้มโอรสอร่อย ที่มีศักยภาพเชิงการค้าในอนาคต

คณะวิจัยได้ศึกษาและคัดเลือกสายพันธุ์เด่นของส้มโอเนื้อแดง ในพื้นที่อำเภอบ้านแท่นและอำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ เพื่อศึกษาความหลากหลายทางสัณฐานวิทยาของต้น ใบและผล พบว่า ส้มโอเนื้อแดง มีรสชาติหลากหลาย ตั้งแต่ เปรี้ยว เปรี้ยวอมหวาน หวาน และหวานมากผลส้มโอในระยะเก็บเกี่ยวมีสีเนื้อผลถึง 5 กลุ่มคือ ขาว เหลือง ชมพู แดงส้มและแดง ค่าความหวานเฉลี่ย 7-11 องศาบริกซ์ ค่าความเปรี้ยว ร้อยละ 0.4-1.0

คณะวิจัยได้เก็บข้อมูลการปลูกส้มโอเนื้อแดง สายพันธุ์พื้นเมือง ของ คุณเสมียน นราพล เจ้าของสวนส้มโอในพื้นที่ บ้านบุ่งสิบสี่ หมู่ 4 ต.โนนทอง อ.เกษตรสมบูรณ์ พบว่า ส้มโอเนื้อแดงจากแหล่งนี้เกิดจากการกลายพันธุ์ จนได้ส้มโอพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะเด่นดังนี้ คือ ผลสุกมีเปลือกเป็นสีทอง เปลือกในอมชมพู เนื้อสีแดงเข้มสะดุดตา มีกลิ่นหอมอ่อนๆ มีเมล็ดมาก อายุการเก็บเกี่ยวผลช้ากว่าส้มโอพันธุ์ทองดีประมาณ 15 วัน คณะวิจัยได้เก็บสายพันธุ์ส้มโอแดงทั้ง 22 ต้น เพื่อนำไปใช้เป็นพันธุ์ต้นแบบในแปลงเกษตรกร มีการใช้เทคโนโลยีการจัดการที่เหมาะสมต่อไป

เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอเนื้อสีแดง ปลูกดูแลต้นส้มโอจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ทำให้คุณภาพผลผลิตไม่สม่ำเสมอ ดังนั้น คณะนักวิจัยจึงมุ่งศึกษาวิจัยการขยายพันธุ์ส้มโอเนื้อสีแดง การสร้างพันธุ์ส้มโอลูกผสม การระบุความจำเพาะของสายพันธุ์ แปลงรวบรวมพันธุ์ การขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การขยายพันธุ์โดยวิธีการตอนและการเปลี่ยนยอด รวมทั้งนำเทคโนโลยีการผลิตต่างๆ เช่น การควบคุมปริมาณน้ำ การจัดการธาตุอาหาร ฯลฯ มาใช้ปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มรสหวานให้กับส้มโอเนื้อแดง ให้มีรสชาติจัดจ้านมากขึ้น

เพื่อตอบสนองกระแสการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ คณะนักวิจัย มีเป้าหมายศึกษาวิจัยด้านโภชนาการเกี่ยวกับสารต้านอนุมูลอิสระจากสารสีแดงเข้มของเนื้อส้มโอ ซึ่งเป็นสารแอนโทไซยานิน ช่วยลดอัตราเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดสมองอุดตัน เพื่อสร้างอัตลักษณ์ส้มโอเนื้อแดงของจังหวัดชัยภูมิให้มีความโดดเด่น เพื่อช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอพันธุ์เนื้อแดง มีรายได้เพิ่มขึ้นในระยะยาว

ส้มโอพันธุ์พื้นเมืองรสอร่อย ของ “บ้านบุ่งสิบสี่”

บ้านบุ่งสิบสี่ อำเภอเกษตรสมบูรณ์ ในอดีตพื้นที่แห่งนี้ เกษตรกรทำนาเป็นอาชีพหลัก แต่ได้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือน เพราะภูมิประเทศบ้านบุ่งสิบสี่ ไม่เหมาะกับการทำนา ชาวบ้านจึงหันมาปลูกส้มโอพันธุ์พื้นเมือง ที่มีรสชาติอร่อยและได้ผลผลิตที่ดี จึงนำส้มโอไปแลกข้าว เกิดเป็นตำนานส้มโอแลกข้าวของท้องถิ่นแห่งนี้

คุณอัครวิทย์ หมื่นกุล ผู้ดำเนินงานโครงการศึกษาและพัฒนาสินค้าและบริการท่องเที่ยวบ้านบุ่งสิบสี่ เคยให้ข่าวเกี่ยวกับส้มโอสายพันธุ์ดั้งเดิมของบ้านบุ่งสิบสี่ ว่า ส้มโอพันธุ์พื้นเมืองของที่นี่มีรสชาติดีไม่แพ้ที่ใดเลย นอกจากมีรสชาติอร่อยแล้วยังมีความหอมเหมือนมะนาวเมล่อน บางต้นมีเปลือกบางและปอกเปลือกได้ง่ายอีกด้วยเช่น ขาวหอม ขาวหล่อน (ขาวจัมโบ้) ฯลฯ.

ส้มโอพื้นเมืองบางต้น มีอายุไม่น้อยกว่า 150 ปี ส้มโอพันธุ์พื้นเมือง จะมีกุ้ง 2 สี หากมีสีแดงจะเรียกว่า แดงและต่อท้ายตามตำแหน่งที่เกิด เช่น แดงภูคิ้ง แดงโรงสี แดงผาพัง หรืออื่นๆ หากส้มโอมีเนื้อสีขาวจะใส่คำว่า หอม ลงไป

ต่อมา หน่วยงานภาครัฐได้เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่บุ่งสิบสี่ ปลูกส้มโอสายพันธุ์ส่งเสริม เช่น ทองดี ขาวแตงกวา ฯลฯ เป็นต้น ส่งผลให้ส้มโอพันธุ์พื้นเมืองเริ่มถูกตัดโค่นต้นทิ้งเนื่องจากพันธุ์พื้นเมืองมีขนาดลำต้นและทรงพุ่มขนาดใหญ่ต้องใช้พื้นที่ในการปลูกมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเพราะส้มโอพันธุ์พื้นเมืองมีความหลากหลายแต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักแพร่หลายเหมือนสายพันธุ์การค้าอื่นๆ จึงอยากให้มีการอนุรักษ์พันธุ์พื้นเมืองนี้ไว้ก่อนที่จะสูญหายหมดไป

ปัจจุบัน “บ้านบุ่งสิบสี่” นับเป็นแหล่งปลูกส้มโอสำคัญของพื้นที่อำเภอเกษตรสมบูรณ์ มีพื้นที่ปลูกส้มโอขนาดใหญ่เนื้อที่กว่า 600 ไร่ เกษตรกรนิยมปลูกส้มโอพันธุ์ทองดี พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง เป็นหลัก ส่วน “มณีอีสาน” ส้มโอพันธุ์พื้นเมือง เพิ่งได้รับการโปรโมทให้เป็นพืชเศรษฐกิจของท้องถิ่นยังมีพื้นที่ปลูกยังไม่มาก เพราะเพิ่งเป็นที่รู้จักในช่วง 1-2 ปีหลังนี้เอง

สวนส้มโอในพื้นที่บ้านบุ่งสิบสี่ มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร เพราะเป็นสวนที่ถูกล้อมรอบด้วยลำน้ำพรมตอนต้น บางรายนิยมปลูกส้มโอในสวนหลังบ้าน ด้วยสภาพพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะคล้ายเกาะที่มีน้ำโอบรอบ ทำให้การปลูกและดูแลรักษาเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะมีสภาพดินและความชื้นเหมาะสม บ้านบุ่งสิบสี่ นับเป็นแหล่งปลูกส้มโอพันธุ์ทองดี และส้มโอพื้นเมืองที่มีรสชาติอร่อย ราคาไม่แพงและมีผลผลิตให้ชิมได้ทั้งปี ทุกฤดูกาล

พื้นที่บ้านบุ่งสิบสี่ มีภูมิประเทศที่สวยงามเพราะอยู่ติดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว (ทุ่งกระมัง) มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศ วิถีวัฒนธรรมและธรรมชาติ โดยชุมชนอย่างยั่งยืน ผู้สนใจสามารถแวะมาท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปีในทุกฤดูกาล

แหล่งปลูก “ส้มโอมณีอีสาน”

ช่วงปี 2546-2547 สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยภูมิ ได้ดำเนินโครงการ ปรับระบบเพื่อพัฒนาระบบการผลิต (คปร.) โดยนำส้มโอพันธุ์ดี เช่น ส้มโอทองดี ส้มโอขาวแตงกวา ฯลฯ มาส่งเสริมให้เกษตรกรในหมู่บ้านบุ่งสิบสี่ ได้นำมาปลูก และขยายพันธุ์ ต่อมาส้มโอที่นำมาส่งเสริมให้ปลูกเกิดการกลายพันธุ์ กลายเป็นส้มโอเนื้อแดงที่มีลักษณะโดดเด่น และถูกเรียกว่า ส้มโอมณีอีสานนั่นเอง

ปัจจุบัน ตำบลโนนทอง มี 14 หมู่บ้าน ซึ่งแหล่งปลูกส้มโอส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ บ้านบุ่งสิบสี่ บ้านเล่า บ้านริมพรม บ้านโนนหนองไฮ ทางกรมฯ ได้จัดงบประมาณเงินกู้จำนวน 10 ล้านบาท ให้เกษตรกรนำไปใช้ปรับปรุงสวนส้มโอเข้าสู่ระบบส้มโอแปลงใหญ่ต่อไป โดยมีเกษตรกรเข้าสู่โครงการส้มโอแปลงใหญ่แล้ว จำนวน 151 ราย พื้นที่ปลูกส้มโอรวมทั้งสิ้น 624 ไร่

คุณเสมียน นราพล เกษตรกรเจ้าของสวนส้มโอมณีอีสาน ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านบุ่งสิบสี่ หมู่ 4 ตำบลโนนทอง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ โทร. 087-278-5617 กล่าวว่า ปัจจุบัน คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ใช้สวนส้มโอของผมเป็นแปลงรวบรวมพันธุ์ส้มโอมณีอีสาน รวมทั้งศึกษาเรื่องการขยายพันธุ์ และพัฒนาคุณภาพผลผลิตควบคู่กันไป

คุณเสมียน ทำสวนส้มโอเนื้อที่ ประมาณ 14-15 ไร่ ปลูกส้มโอพันธุ์ทองดีเป็นหลัก และปลูกส้มโอพันธุ์พื้นเมืองหลากหลายสายพันธุ์ มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตปีละ 500,000 บาท สำหรับส้มโอเนื้อแดง ที่เรียกว่า ส้มโอมณีอีสาน ที่คณะวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นค้นพบในสวนแห่งนี้ มีจำนวน 22 ต้น ปลูกดูแลง่าย เช่นเดียวกับส้มโอพันธุ์ทั่วไป หลังจากเปิดตัวส้มโอมณีอีสานสู่สาธารณชนเมื่อปี 2557 คุณเสมียนผลิตกิ่งพันธุ์เสียบยอดออกขายผ่านเฟซบุ๊ก ในราคากิ่งละ 350 บาท ให้กับเกษตรกรทั่วประเทศแล้วกว่า 400 ต้น

“ส้มโอมณีอีสานพันธุ์แท้ มีรสหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีกลิ่นหอมตั้งแต่เปลือกจนถึงเนื้อส้มโอ หลังเก็บเกี่ยว สามารถเก็บไว้บริโภคได้นานถึง 40 กว่าวันโดยรสชาติไม่เปลี่ยนแปลง ส้มโอมณีอีสาน เป็นที่ชื่นชอบของแมลงวันทองมาก จึงต้องห่อผล ป้องกันผลผลิต ที่ผ่านมา พยายามแขวนขวดดักแมลงวันทอง แต่ล่อได้เฉพาะตัวผู้เท่านั้น ตัวเมียไม่เข้ามาติดกับดัก ผมฝากการบ้านให้คณะวิจัย ช่วยหาวิธีป้องกันแมลงวันทองในสวนส้มโอมณีอีสานด้วย” คุณเสมียน กล่าว