ส่งออกข้าวโพดหวานทิศทางสดใส ครองแชมป์ส่งออกอับดับ

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตข้าวโพดหวานของประเทศในปี 2562 (ข้อมูลพยากรณ์ ณ มีนาคม 2562) คาดว่า มีเนื้อที่เพาะปลูก รวมทั้งประเทศ 237,700 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้วซึ่งมีจำนวน 245,629 ไร่ (ลดลง 7,929 ไร่ หรือร้อยละ 3.23) เนื้อที่เก็บเกี่ยว 232,526 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้วซึ่งมีจำนวน 242,729 ไร่ (ลดลง 10,203 ไร่ หรือร้อยละ 4.20) ผลผลิตรวม 520,603 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วซึ่งมีจำนวน 535,365 ตัน (ลดลง 14,762 ไร่ หรือร้อยละ 2.76) ผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว 2,239 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่จำนวน 2,206 กิโลกรัม/ไร่ (เพิ่มขึ้น 33 กิโลกรัม/ไร่ หรือร้อยละ 1.50)

ซึ่งภาพรวมผลผลิตลดลงตามการลดลงของเนื้อที่เพาะปลูก โดยเนื้อที่เก็บเกี่ยวลดลง เนื่องจากปริมาณในแหล่งน้ำธรรมชาติในช่วงฤดูแล้งมีน้อยกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก เกษตรกรจึงปล่อยเนื้อที่ให้ว่าง ด้านผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากในแหล่งผลิตที่ทำการเพาะปลูกได้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโต
ทั้งนี้ ข้าวโพดหวานในประเทศนิยมปลูกในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง นครสวรรค์ กาญจนบุรี เป็นส่วนใหญ่ และผลผลิตจะออกมาในช่วงเดือนมิถุนายน ถึง สิงหาคม โดยจะออกมากในเดือนกรกฎาคม ร้อยละ 17.45 ของผลผลิตทั้งประเทศ

หากมองถึงการบริโภคข้าวโพดหวานในประเทศ พบว่า ปัจจุบันการบริโภคข้าวโพดหวานพันธุ์ลูกผสมมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากมีการพัฒนาข้าวโพดหวานสายพันธุ์ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น พันธุ์ทับทิมสยาม ที่สามารถบริโภคสดได้โดยไม่ต้องทําให้สุกก่อน ในขณะที่ข้าวโพดหวานพันธุ์พื้นเมือง เช่น พันธุ์ข้าวเหนียว ข้าวโพดเทียน ยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่องจากผู้บริโภค

ทั้งนี้ ไทยนับว่าเป็นประเทศส่งออกข้าวโพดหวานอันดับ 1 ของโลกมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และจากการที่แหล่งผลิตข้าวโพดหวานในสหภาพยุโรปและทวีปอื่นๆ ซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งที่สําคัญของไทยประสบความเสียหายจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (เอลนีโญ-ลานีญา) จึงส่งผลให้ข้าวโพดหวานของไทย ในปี 2561 สามารถส่งออกได้มากถึง 532,370 ตัน คิดเป็นมูลค่า 7,956 พันล้านบาท โดยปริมาณ ส่งออกเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ซึ่งส่งออกได้ 489,992 ตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.65) คิดเป็นมูลค่า 7,662 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.84)

และคาดว่าปี 2562 การส่งออกจะเติบโตไปในทิศทางบวกเช่นเดียวกันเนื่องจากข้าวโพดหวานพันธุ์ลูกผสมเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตและมีความต้องการข้าวโพดหวานปรุงแต่งเพื่อส่งออก โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ซาอุดิอาระเบีย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการผลิตในประเทศ เกษตรกรควรดูแลคุณภาพผลผลิต และเฝ้าระวังโรคและแมลงที่ระบาดอยู่ใน บางพื้นที่ เช่น หนอนกระทู้ โรคใบลาย โรคใบไหม้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อปริมาณและผลผลิตได้คุณภาพตามต้องการ

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ แนะนำเทคนิคการเลี้ยงสัตว์ในฤดูร้อน เพื่อให้เกษตรกรได้ปรับวิธีการเลี้ยงและเสริมเทคนิคให้สอดคล้องกับสภาพอากาศ ช่วยลดความเสี่ยง-ลดความเสียหายของฝูงสัตว์

น.สพ. นรินทร์ ร่มลำดวน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ศูนย์วินิจฉัยโรคสัตว์บก ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ปีนี้เป็นปีที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า สถานการณ์แล้งรุนแรงและยาวนาน และจะเกิดสภาวะอากาศร้อนจัดมากกว่าปีก่อนๆ บางพื้นที่อุณหภูมิจะสูงถึง 40-43 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์จึงต้องเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ด้วยการดูแลความเป็นอยู่ของสัตว์ให้เหมาะสม

สำหรับการเลี้ยงสุกร ต้องสำรองน้ำกิน-น้ำใช้ให้เพียงพอในฟาร์มสุกรพ่อแม่พันธุ์ที่เลี้ยงในระบบอีแวป จะต้องใช้น้ำทั้งกินและใช้เฉลี่ยวันละ 130 ลิตร ต่อตัว ช่วงอากาศร้อนจัดอาจต้องขังน้ำในรางอาหาร ส่วนฟาร์มสุกรขุนกินและใช้น้ำเฉลี่ยวันละ 40 ลิตร ต่อตัว ควรเพิ่มรางน้ำให้สุกรกินอย่างเพียงพอและสะดวก ในโรงเรือนที่มีส้วมน้ำด้านท้ายคอกควรขังน้ำให้พอดี

ส่วนไก่เนื้อและไก่ไข่ปกติจะต้องกินน้ำอย่างน้อย 2 เท่าของปริมาณอาหารที่กินในแต่ละวัน หากขาดน้ำเกิน ร้อยละ 20 ไก่จะกินอาหารลดลง เกิดภาวะเครียด อัตราการเจริญเติบโตต่ำ ผลผลิตและภูมิคุ้มกันโรคลด มีโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่าย กรณีที่ไก่ได้รับน้ำไม่เพียงพอสังเกตได้จากอาการที่แสดงออก เช่น อาการซึม แข้งไก่มีลักษณะแห้งจากสภาพแห้งน้ำ และหากไก่สูญเสียน้ำไปกว่า 1 ใน 10 ส่วนของน้ำที่มีอยู่ในร่างกายจะทำให้ไก่ตายได้

นอกจากนี้ เกษตรกรต้องใส่ใจกับคุณภาพน้ำด้วย โดยทั่วไปน้ำที่ดีควรเป็นน้ำบาดาล หากจำเป็นต้องใช้น้ำผิวดินควรปรับคุณภาพน้ำก่อน หากน้ำขุ่นควรใช้สารส้ม 1 กรัม ต่อน้ำ 100 ลิตร แกว่งน้ำให้ตกตะกอนก่อน และใช้คลอรีนฆ่าเชื้อโรคที่ความเข้มข้น 3-5 ppm. (คลอรีน 3-5 ลิตร ต่อน้ำ 1 ล้านลิตร) จะช่วยป้องกันอาการท้องเสียในสัตว์ได้ ควบคู่กับการป้องกันโรคและสัตว์พาหะ ทั้งนก หนู แมลง ยุง และต้องเน้นการเปลี่ยนรองเท้าก่อนเข้าโรงเรือนเลี้ยงสัตว์แต่ละหลัง

“แม้ทุกวันนี้เกษตรกรส่วนใหญ่จะหันมาใช้โรงเรือนอีแวปก็ตาม แต่ในช่วงที่อากาศร้อนจัดมีผลต่อการปรับอากาศของระบบทำความเย็น เกษตรกรต้องหมั่นตรวจตราอย่าให้มีรอยรั่วที่อากาศร้อนจากภายนอกจะผ่านเข้ามาได้ สามารถเพิ่มการสเปรย์น้ำในโรงเรือนเพื่อลดอุณหภูมิลง แต่ต้องระวังอย่าให้พื้นแฉะและมีกลิ่นก๊าซแอมโมเนียเพราะจะทำให้สัตว์ยิ่งเครียดมากขึ้น ควรผสมวิตามินละลายน้ำให้สัตว์กิน 3-5 วันติดต่อกัน เพื่อลดความเครียด” น.สพ. นรินทร์ กล่าว

ด้าน นายอดิศร์ กฤษณวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักพัฒนาธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ แนะนำวิธีการเลี้ยงปลาเพื่อลดความเสียหายแก่เกษตรกรว่า ไม่ควรเลี้ยงปลาหนาแน่นจนเกินไป อาจลดอัตราการปล่อยปลาลงจากปกติประมาณ 30% เพื่อให้ปลาอยู่สบายขึ้น เพราะอากาศร้อนจะทำให้การละลายน้ำได้ของออกซิเจนลดลง และควรปรับสภาพแวดล้อมต่างๆ ให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของปลา เช่น การทำร่มเงาด้วยสแลนบังแดด 60-70% คลุมเหนือกระชังหรือบ่อเลี้ยง เพื่อช่วยควบคุมทั้งอุณหภูมิน้ำและลดความเครียดจากแสงที่มากเกินไปที่จะทำให้ปลากินอาหารลดลง โตช้า และป่วยได้

ส่วนการเลี้ยงปลาในบ่อต้องควบคุมคุณภาพน้ำ ปรับสภาพให้น้ำลึกไม่ต่ำกว่า 1.8 เมตร วัดค่าความขุ่นใสให้ได้ 40-50 เซนติเมตร และต้องวัดค่า DO บ่อยครั้งขึ้น เพราะน้ำที่อุณหภูมิสูงขึ้นออกซิเจนที่ละลายในน้ำจะลดลง และเปิดเครื่องตีน้ำในช่วงกลางวัดด้วย ส่วนการเลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำที่มักพบปัญหาปริมาณของน้ำลดลงมาก ควรลงเลี้ยงปลาให้บางลงสัก 30% ถ้าเป็นไปได้ควรย้ายกระชังลงไปในบริเวณน้ำลึกขึ้น รวมทั้งต้องมีระบบป้องกันโดยการทำความสะอาดกระชังบ่อยครั้งขึ้นเนื่องจากฤดูร้อนพาราไซต์และแบคทีเรียจะเติบโตรวดเร็ว และควรกำจัดวัชพืชน้ำและสาหร่ายไม่ให้เกาะกระชัง ช่วยลดการกีดขวางการไหลของน้ำผ่านกระชังที่จะทำให้ออกซิเจนในกระชังต่ำลง หากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพน้ำให้ผสมวิตามินซีในอาหารให้ปลากินติดต่อกัน 3-5 วัน ควรหมั่นสังเกตการกินอาหารของปลาอย่าให้เหลือเกินกว่า 5 นาที เปลี่ยนมาให้อาหารในช่วงที่อากาศไม่ร้อนจัด โดยอาจแบ่งการให้อาหารเป็น 5-6 มื้อ ต่อวัน เพื่อกระตุ้นการกิน

“เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาทั้งกระชังในแม่น้ำและการเลี้ยงในบ่อ ควรติดตั้งเครื่องตีน้ำเพื่อช่วยเติมอากาศในน้ำโดยเฉพาะช่วงที่อากาศร้อนจัดในเวลากลางวัน ควรเปิดตลอดเวลาเพื่อให้น้ำผสมกันไม่เกิดการแบ่งชั้นของน้ำ เพื่อช่วยให้อุณหภูมิน้ำไม่สูงเกินไป และต้องหมั่นตรวจสุขภาพปลาด้วยการสุ่มตรวจพาราไซต์ทุกสัปดาห์ และใช้แบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ให้เหมาะสม โดยวัดจากค่าแอมโมเนียรวมที่ละลายน้ำไม่ควรเกิน 0.5 PPM” นายอดิศร์ กล่าว

อากาศร้อนจัด ไก่ตายเป็นเบือ กรมปศุสัตว์ เตรียมถกผู้เลี้ยงไก่ไข่-พ่อค้าคนกลางและโรงงานคัดแยกบรรจุไข่ไก่รอบใหญ่ปลายเดือนนี้ ก่อนประกาศบังคับใช้มาตรฐานสุขอนามัยอุตสาหกรรมไก่ไข่ทั้งระบบ ด้านผู้เลี้ยงขอรัฐช่วยหาแหล่งทุนหนุน หวั่นต้นทุนค่าตรวจสอบฟาร์มสูงถึงปีละ 3-5 หมื่นบาท

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงนี้ทำให้ไก่ไข่ยืนกรงของผู้เลี้ยงรายย่อยฟาร์มละ 1 หมื่นกว่าตัว ต้องตายลงถึงวันละ 20-30 ตัว จากปกติตายวันละ 1-2 ตัว เท่านั้น ทั้งที่มีการฉีดน้ำช่วงบ่ายแก้ปัญหาอากาศร้อนจัด ขณะเดียวกัน ภาครัฐ โดยกรมปศุสัตว์ก็เตรียมจะบังคับใช้มาตรฐานฟาร์ม ส่งผลให้เอกชนหลายรายหวั่นวิตกว่าจะไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนมาเลี้ยงในระบบปิดที่ได้มาตรฐานได้ตามแผน

นายจอมพงษ์ ชูทับทิม ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ฉะเชิงเทรา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงกรณีกรมปศุสัตว์จะจัดประชุมเรื่อง ยุทธศาสตร์การเลี้ยงไก่ไข่ในอนาคตช่วงปลายเดือน เม.ย.นี้ ว่า ประเด็นหลักคงเน้นเรื่องการปรับตัวหรือการปรับปรุงการเลี้ยงไก่ไข่ให้ได้มาตรฐานถูกสุขอนามัย ซึ่งกรมจะขอให้ผู้เลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่ รายกลาง และรายย่อย ได้เสนอข้อคิดเห็นในการแก้ปัญหาก่อนที่กรมปศุสัตว์จะออกประกาศบังคับใช้ ซึ่งปัญหาใหญ่คือ

การที่กรมจะให้เอกชนมาดำเนินการตรวจฟาร์มไก่ไข่ทั้งระบบ ทั้งน้ำที่ใช้เลี้ยง โรงเรือน วัสดุอุปกรณ์ในการเลี้ยง และเชื้อโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบปีละ 3-5 หมื่นบาท ต่อปี จะทำให้ผู้เลี้ยงไก่ไข่เดือดร้อน เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก จะมีทางออกโดยให้เจ้าของฟาร์มเก็บตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการหรือแล็บแทนได้หรือไม่ เพื่อลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งขอความเห็นจากพ่อค้าคนกลาง (ล้ง) โรงงานด้วยในการออกมาตรฐานบังคับโรงคัดแยกบรรจุไข่ไก่ และมาตรฐานสถานที่เก็บไข่ไก่ของล้ง

“หากออกประกาศบังคับใช้มาตรฐาน ควรเริ่มที่ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ขนาดใหญ่ตั้งแต่ 2 แสนตัวขึ้นไปก่อน ปีถัดไปให้ใช้บังคับกับฟาร์มเลี้ยงขนาด 1 แสนตัวขึ้นไป เป็นต้น เพราะที่ผ่านมา ผู้เลี้ยงขาดทุนกันมาก ในขณะที่ต้องลงทุนเลี้ยงไก่ไข่ ทั้งที่ดิน โรงเรือน อุปกรณ์ พันธุ์สัตว์เฉลี่ยแล้ว ตกตัวละ 500 บาท ยกตัวอย่าง ฟาร์มเลี้ยงขนาด 1 แสนตัว ต้องเดินไฟฟ้า 3 เฟส แรงดัน 200 KVA เพื่อป้องกันไฟตก ต้องลงทุนสูงถึง 1 ล้านบาทเศษ เพราะต้องเลี้ยงในระบบปิด (อีแวป)”

ทางด้าน นายสุเทพ สุวรรณรัตน์ ประธานสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การยกระดับมาตรฐานโรงเรือนฟาร์มไก่ไข่ทั่วประเทศให้มีสุขอนามัยที่ดี เพื่อให้ประเทศผู้นำเข้าสำคัญ เช่น สหภาพยุโรป (อียู) เข้ามารับรองฟาร์มก่อนส่งออกไข่ไก่และผลิตภัณฑ์ เพราะกลัวไข่ไก่ติดเชื้อซัลโมเนลลานั้น ในส่วนของภาคใต้ผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยยังประสบปัญหาในการยกระดับมาตรฐานโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ให้มีสุขอนามัยที่ดี ประมาณ 30 ราย โดยเฉพาะการเลี้ยงในระบบปิดหรือระบบอีแวป ที่ต้องลงทุนติดตั้งหม้อแปลงและการเดินสายไฟฟ้า 3 เฟส เข้าโรงเรือนมีต้นทุนสูงถึง 1 แสนกว่าบาท และการติดตั้งระบบอีแวปกับพัดลมขนาดใหญ่ 3-5 ตัว การปรับปรุงโรงเรือน ระบบปั๊มน้ำอีกไม่ต่ำกว่า 1 แสนกว่าบาท

เรื่องนี้ตัวแทนผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั่วประเทศจะนำเรื่องเข้าหารือกรมปศุสัตว์ปลายเดือนนี้ด้วยว่า จะมีแหล่งสินเชื่อหรือเงินทุนมาช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ได้มากน้อยเพียงใด เพราะที่ผ่านมา สถานการณ์ไก่ไข่ไม่ดี แต่หลังจากนี้ ที่มีการจำกัดการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ ปู่ย่าพันธุ์และแม่ไก่ยืนกรงที่จะเลี้ยง สถานการณ์น่าจะดีขึ้น และจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงนี้ทำให้ไก่ไข่ยืนกรงของผู้เลี้ยงรายย่อยฟาร์มละ 1 หมื่นกว่าตัว ต้องตายลงถึงวันละ 20-30 ตัว จากปกติตายวันละ 1-2 ตัว เท่านั้น ทั้งที่มีการฉีดน้ำช่วงบ่ายแก้ปัญหาอากาศร้อนจัด ดังนั้น การหาแหล่งเงินทุนมาเลี้ยงในระบบปิดที่ได้มาตรฐานจึงมีความจำเป็นมาก

คุณมงคล จอมพันธุ์ เกษตรจังหวัดตราด กล่าวถึง คุณเรือง ศรีนาราง เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำสวนปี 2562 ว่า คุณเรือง ศรีนาราง รู้จักนำประสบการณ์และเทคโนโลยีมาใช้ในการทำสวนทุเรียนจนกระทั่งได้ผลเป็นที่ยอมรับ เป็นต้นแบบศูนย์เรียนรู้ด้านการผลิตทุเรียนคุณภาพ ที่ลดต้นทุนผลิตปุ๋ยใช้เอง การใช้สารชีวภัณฑ์ ลดการใช้สารเคมี การบริหารจัดการน้ำ การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ และเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้เพื่อนเกษตรกร เป็นรองประธานสภาเกษตรกรจังหวัดตราดและประธานแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม-เนินทราย ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำสวนระดับภาคตะวันออกปี 2561 และได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำสวน ปี 2562 จะเข้ารับพระราชทานโล่ในงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในเดือนพฤษภาคมนี้

เล็งผลผลิตทำได้ง่ายกว่าชะนี กระดุม

คุณเรือง ศรีนาราง เกษตรกรวัย 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 34/2 หมู่ที่ 6 ตำบลท่ากุ่ม อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ประกอบอาชีพทำสวนทุเรียนเป็นอาชีพหลัก ร่วม 25 ปี เดิมมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดพิจิตร เมื่อเรียนจบประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตพิษณุโลก แต่งงานกับ ดร.อัชญา ศรีนาราง เป็นคุณครูอยู่โรงเรียนคลองขวาง อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด จึงเริ่มต้นเรียนรู้อาชีพทำสวนทุเรียนที่จังหวัดตราดเมื่อ 30 ปีก่อน จากที่ดินของครอบครัวจำนวน 30 ไร่

“เริ่มทำสวนทุเรียนโดยไม่มีความรู้ด้านนี้มาก่อน แม้จะจบสาขาเกษตรแต่เป็นพืชแถบภาคกลางไม่ใช่พืชสวน ต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด เริ่มด้วยการปลูกทุเรียน 3 สายพันธุ์อย่างละเท่าๆ กัน คือ หมอนทอง ชะนี กระดุม ทำไปเรียนรู้ไปจากการเข้าอบรม ดูงาน ขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตร และการลองผิดลองถูกร่วม 10 ปีจึงเริ่มเข้าใจ และได้ข้อสรุปเลือกที่จะปลูกพันธุ์หมอนทองเป็นรายได้หลัก เพราะเห็นว่า ชะนีกับกระดุมลงทุนเท่ากันแต่ชะนีติดลูกยากกว่า มีต้นทุนค่าแรงดูแลให้ติดผลสูง เมื่อชะนี หมอนทองได้ราคาดี จึงเลือกที่จะปลูกหมอนทองที่ติดลูกได้ดีกว่า

จากนั้นถึงปัจจุบันระยะเวลา 15-20 ปี ทยอยปลูกเฉพาะหมอนทองอย่างเดียว และขยายแปลงไปเรื่อยๆ จากแปลงที่ 1 ถึงแปลงที่ 4 ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกทุเรียน 180 ไร่ ผลผลิตรวมปีละประมาณ 300 ตัน” คุณเรือง เล่าถึงที่มาของอาชีพชาวสวนทุเรียนหมอนทอง

คุณเรือง เล่าถึงตอนที่เริ่มทำสวนทุเรียนเมื่อปี 2531 ระยะแรกทำกันในครอบครัว เป็นแบบล้มลุกคลุกคลาน ด้วยที่ดิน 40 ไร่ ปลูกทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ ได้ผลผลิตบ้างไม่ได้บ้าง พอปี 2539 มีปรากฏการณ์เอลนิโญ เกิดภาวะแห้งแล้งขาดแคลนน้ำ ทุเรียนของชาวสวนทั่วไปที่ปลูกไว้ไม่ได้ผล บางสวนต้องปล่อยให้ต้นตายเพราะไม่มีน้ำรด แต่ผมโชคดีที่มีแอ่งน้ำคลองขวางของตำบลทุ่ม อยู่ใกล้สวนจึงรอดวิกฤตนี้มาได้ และเป็นโอกาสที่ได้ผลผลิต ราคาค่อนข้างสูง ทำให้มีรายได้มากพอที่จะปลดหนี้สิ้นในปีนั้น และมีทุนทำสวนทุเรียนปีต่อๆ มา และสามารถซื้อที่แปลงใหม่ที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น

“จากจุดเริ่มต้นปลูกทุเรียน 40 ไร่ประสบความสำเร็จ ปีที่เกิดวิกฤตเอลนิโญแต่รอดมาได้ จึงมีทุนที่จะขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนออกไปเรื่อยๆ ค่อยๆ สะสมถึงปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกทุเรียนหมอนทองทั้งหมด 4 แปลง 180 ไร่ปลูกทุเรียนหมอนทอง 40,000 ต้น จากประสบการณ์ทำให้มีแนวคิดเรื่องของแหล่งน้ำในสวนทุเรียนเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งเกษตรกรควรจะมีแหล่งน้ำในสวนตัวเองอัตราส่วนในพื้นที่สวน 10 ไร่ ต่อแหล่งน้ำ 1 ไร่ และได้มีการบริหารจัดการแหล่งน้ำอ่างเก็บน้ำคลองขวางร่วมกันกับชลประทานและเกษตรกรใกล้เคียงช่วยกันขุดลอกอ่างและคูคลองให้มีน้ำใช้ได้ทั้งปี ทำให้เกษตรกรบริเวณอ่างเก็บน้ำไม่ต้องเผชิญภาวะภัยแล้งหนักๆ อีก” คุณเรือง กล่าว

คุณเรือง เล่าต่อว่า แก้ปัญหาเรื่องแหล่งน้ำในสวนทุเรียนผ่านไปเปลาะหนึ่งแล้ว ต้องเผชิญกับโจทย์สำคัญที่ต้องผลิตทุเรียนให้ได้คุณภาพปลอดภัย ทั้งเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมทั้งไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ระยะหลังๆ มีปัญหาเรื่องแรงงานเพิ่มขึ้นมาอีก จึงหาวิธีต่างๆ ที่จะลดต้นทุน ลดอันตรายจากการใช้สารเคมีที่จำเป็น และทำงานได้มีประสิทธิภาพ จึงออกแบบนวัตกรรมทดแทนแรงงานคนและช่วยประหยัดแรงงาน ต้นทุน เช่น วางระบบการให้ยา ปุ๋ย โดยทางน้ำ การพ่นยาป้องกันแมลงใช้รถพ่นยา (Air Bus) ลดปริมาณสารเคมีสารฆ่าหญ้า กำจัดแมลง และใช้สารชีวภาพให้มากขึ้น เช่น น้ำส้มควันไม้ ใช้ราเขียว เชื้อไตรโคเดอร์ม่าเพื่อกำจัดโรครากเน่าโคนเน่า (เกิดจากเชื้อราไฟทอปทอร่า)

ใช้สารหมักจากเชื้อ พด.7 เพื่อกำจัดไรแดง ใช้สารชีวภาพจำพวกปุ๋ยอินทรีย์ สารอินทรีย์สังเคราะห์ ปลาหมัก ผสมปุ๋ยคอกแทนปุ๋ยเคมี ซึ่งช่วยในเรื่องสิ่งแวดล้อมและลดต้นทุนด้วย โชคดีที่ตอนปลูกทุเรียน เว้นระยะระหว่างแถวและต้นไว้ถึง 10×10 เมตร ทำให้พื้นที่กว้างพอสามารถใช้รถพ่นยาได้ ในขณะที่งานบางอย่าง เช่น การเดินหาหนอนเจาะต้นทุเรียน การโยงต้นทุเรียน การโยงลูกทุเรียน และมือตัดทุเรียน เป็นงานละเอียดอ่อนยังจำเป็นต้องใช้แรงงานคน

“เราได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในสวนทุเรียนด้วย ระหว่างแถวได้ปลูกหมาก กาแฟโรบัสต้าแซมเพื่อช่วยเพิ่มรายได้และยังให้ประโยชน์ที่ช่วยคลุมดินสร้างความชุ่มชื้นด้วย ส่วนความปลอดภัยสิ่งแวดล้อมจากการใช้สารเคมี เราตระหนักเป็นพิเศษ ล่าสุดที่คิดนำแก๊ส (ความร้อน) และเชื้อไตรโคเดอร์ม่าแก้ปัญหาโรครากเน่าโคนเน่า เป็นนวัตกรรมใหม่ใช้ได้ผลดีโดยที่ไม่ต้องใช้สารเคมี สวนทุเรียนทั้ง 3-4 แปลงได้รับการรับรองมาตรฐาน GPA หรือการผลิตที่ถูกหลักการเกษตรดีที่เหมาะสมมาตั้งแต่ ปี 2547 และครบ 3 ปีจะต่ออายุจนกระทั่งถึงปัจจุบัน” คุณเรือง กล่าว

ศูนย์เรียนรู้เพื่อสมาชิกเกษตรกร

คุณเรือง เล่าถึงกิจกรรมกลุ่มทุเรียนแปลงใหญ่ว่า เพิ่งรวมกลุ่มก่อตั้งปี 2560 ผลงานของกลุ่มที่ทำให้สมาชิกเครือข่าย 40 คน พอใจเห็นประโยชน์ชัดเจนคือ การได้พูดคุยหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนช่วยการลดต้นทุนจากการผสมแม่ปุ๋ย ยาชีวภัณฑ์ใช้เอง ตัวอย่างปุ๋ยเร่งดอกผสมเอง 1 ตัน จะประหยัดได้ 300-400 บาท การทำฮอร์โมนบำรุงใบ ต้น ถ้าทำเอง 1 ลิตร ราคาไม่ถึง 20 บาท แต่ถ้าซื้อลิตรละ 200 บาท ส่วนการทำเชื้อไตรโคเดอร์ม่าใช้เอง ถ้าใช้สารเคมีจะแพงกิโลกรัมละ 3,00-1,000 บาท และรักษาไม่หายขาดถ้าทำเอง 250 กรัม ราคาไม่เกิน 15 บาท กิโลกรัมละ 60 บาทรักษาได้หายขาด

การรวมกลุ่มจะช่วยให้หน่วยงานภาครัฐและเกษตรกรมีความสะดวกที่เข้ามาดูแล เช่น สถานีพัฒนาที่ดินช่วยตรวจดิน การสนับสนุนเงินกู้ของ ธ.ก.ส. หรือการช่วยสอนทำบัญชีของสหกรณ์จังหวัด ซึ่งกลุ่มแปลงใหญ่ตอนนี้มีการระดมหุ้นจากสมาชิก 40 คน เป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่จะทำปุ๋ยใช้เอง อนาคตอาจจะมีเงินกู้จาก ธ.ก.ส. ให้สมาชิกกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

“นอกจากเกษตรกรแล้วยังได้ขยายผลการเรียนรู้ให้นักเรียนโรงเรียนคลองขวางเพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกให้ลูกหลานเกษตรกรให้สนใจด้านการเกษตร เพื่อต่อยอดเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ยุค Thailand 4.0 จริงๆ แล้วการรวมกลุ่มเกษตรกรจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน วันนี้เกษตรกรต้องรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาทั้งด้านการผลิตและการตลาด จะต่างคนต่างทำไม่ได้ เพราะจะช่วยทั้งลดต้นทุนการผลิต การสร้างอำนาจต่อรองในตลาด ต่อไปหากทุเรียนมีปัญหาด้านการตลาด อาจจะมีการรวมกลุ่มกันขาย ใช้วิธีการประมูลหรือทำสัญญาตกลงราคา แต่ปีนี้ทุเรียนถือว่าราคาดี รุ่นแรกเฉลี่ยกิโลกรัมละ 110-120 บาท รุ่น 2 ที่จะออกกลางเดือนเมษายนที่มีผลผลิตมากยังได้ราคาอยู่ที่ 80 บาท สมาชิกจะขายกันเอง แต่ได้เริ่มสอนให้ทดลองทำตลาดออนไลน์ โดยให้สมาชิกเก็บทุเรียนพรีเมี่ยมไว้ต้นละ 1-2 ลูก เพื่อให้คุ้นเคย เผื่อเป็นทางเลือกเพราะได้มูลค่าสูง” คุณเรือง กล่าว

ขยายช่องทางพรีเมี่ยมออนไลน์และแปรรูปปีละ 30-40 ตัน

คุณเรือง เล่าว่า เมื่อลูกชาย อิสระ ศรีนาราง “เป๊ก” วัย 30 ปี เรียนจบปริญญาตรี และลูกสาว รังสิมา ศรีนาราง “รุ้ง” อายุ 26 ปี กำลังเรียนปริญญาโทอยู่ ทั้งสองคนได้ช่วยงานในสวนและเป็นสมาชิกกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ (Smart Farmer Yong) แรกๆ ให้เรียนรู้เรื่องสวนผลไม้ และเห็นว่าทุเรียนที่เหมาสวนแต่ละปี ประมาณ 300 ตัน มีทุเรียนตกไซซ์ เป็นทุเรียนที่แก่จัด คุณภาพดี รสชาติอร่อย เพียงแต่รูปทรงไม่สวยตามมาตรฐานการส่งออก 3-4 พูเต็ม จึงหาตลาดและรวบรวมทุเรียนตกไซซ์แต่ละปี ประมาณ 30-40 ตัน ขายส่งให้ลูกค้ารายย่อย เพื่อแปรรูปเป็นทุเรียนทอด ทุเรียนกวน และแปรรูปมีแบรนด์ Mr.Ruang และ ALBOX เป็นของตนเองขายทางอินเตอร์เน็ต ออนไลน์ให้ลูกค้าร้านขายของฝาก รวมทั้งลูกค้าที่สนใจทั่วไป ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีมาก และอีกส่วนหนึ่งได้คัดทุเรียนพรีเมี่ยมหมอนทอง ส่งขายออนไลน์กับกลุ่ม YFS ของจังหวัดตราดอีกด้วย ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีเช่นกัน

คุณเรือง กล่าวทิ้งท้ายว่า รางวัลต่างๆ ที่ได้รับช่วงเวลาทำสวนทุเรียนมา 25 ปี ทุกรางวัลล้วนมีความสำคัญและมีคุณค่า ทำให้มีความภาคภูมิใจในอาชีพชาวสวน เช่น ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพืชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา ซึ่งรวม 7 สถาบันหลักในภาคเหนือ และเป็นสถาบันที่เคยเรียนมา ส่วนรางวัลมิราเคิลออฟไลฟ์ รางวัล “คนดีศรีพิจิตร” เป็นรางวัลชาวพิจิตรภาคตะวันออกเสนอให้ ทำให้มีความรู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยเหลือบ้านเกิดจังหวัดพิจิตร และล่าสุดรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำสวน ปี 2562 เป็นความภูมิใจอย่างยิ่ง

…เกษตรกรไม่ใช่ทำสวนเก่งอย่างเดียว ต้องมีใจเผื่อแผ่ ถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรรุ่นใหม่อย่างเต็มที่และต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ฝากให้เกษตรกรรุ่นใหม่ช่วยกันสืบทอดอาชีพเกษตรกรรมให้ยั่งยืน เพราะเป็นอาชีพที่ทำแล้วมีความสุข…

คุณประทุม เสนกุล เกษตรอำเภอเมืองตราด กล่าวเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า ด้วยความเข้มแข็งและการเติบโตของกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม เนินทราย ทำผลผลิตทุเรียนมีคุณภาพ สำนักงานเกษตรจังหวัดตราดร่วมกับสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราด จัดกิจกรรม “วันผลไม้ของดีเมืองตราด” ที่บริเวณศูนย์เรียนรู้กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม เนินทราย ระหว่างวันที่ 20-21 เมษายนนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์ผลไม้ดี มีคุณภาพของอำเภอเมืองตราดอีกแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดตราด…นี่คือผลพวงจากการพัฒนากลุ่มทุเรียนแปลงใหญ่ภายใต้การนำทางของ คุณเรือง ศรีนาราง ประธานกลุ่มที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำสวนปี 2562

ใช้แก๊สผสมผสานไตรโคเดอร์ม่าป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่า

คุณเรือง ศรีนาราง กล่าวถึงโรคของทุเรียน คือโรครากเน่าโคนเน่า ที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปทอร่า (Phatopthora) ทำให้ต้นทุเรียนตายจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะแพร่ระบาดช่วงฤดูฝนที่อากาศชื้น ทั้งนี้ ได้ใช้ระยะเวลา 2 ปีคิดค้นทดลองใช้ได้ผลดี คือนำแก๊ส (ความร้อน) เผาฆ่าเชื้อไตรโคเดอร์ม่าแก้ปัญหาโรครากเน่าโคนเน่า เป็นนวัตกรรมใหม่โดยไม่ใช้สารเคมี แต่ใช้สารชีวภัณฑ์แทน ปัจจุบันได้เผยแพร่ให้เครือข่ายสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียน วิธีการทำง่ายๆ ดังนี้