เห็นว่าพืชน้ำน้อยจะมีประโยชน์กับเกษตรกรอย่างมาก

ไม่ว่าจะเป็นปริมาณน้ำที่ใช้น้อยกว่าการทำนาถึง 2 เท่า เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ไว ภายใน 2 เดือน ก็สามารถสร้างรายได้ได้แล้ว เทียบกับการทำนาที่ต้องใช้ระยะเวลา 3-4 เดือน และเกษตรกรไม่ต้องเสี่ยงกับการทำนาที่เราก็รู้อยู่แล้วว่า สถานการณ์น้ำในปีนี้น้อยขนาดไหน” คุณวิชัย กล่าว

สำหรับ โครงการ “ศรแดงพืชน้ำน้อย ทางเลือกใหม่ช่วงภัยแล้ง” นั้น ทางบริษัทแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชน้ำน้อยจำนวน 7 ชนิด ได้แก่ 1. ข้าวโพด เช่น ข้าวโพดหวานลูกผสม พันธุ์จัมโบ้สวีท ระยะเวลาเริ่มเก็บเกี่ยว 70 วัน สร้างรายได้ 16,000 บาท ต่อไร่

2. แฟง เช่น แฟงไส้ตันลูกผสม พันธุ์ปิ่นแก้ว ระยะเวลาเริ่มเก็บเกี่ยว 60-65 วัน สร้างรายได้ 40,000 บาท ต่อไร่

3. แตงโม เช่น แตงโมลูกผสม พันธุ์จอมขวัญ ระยะเวลาเริ่มเก็บเกี่ยว 55-60 วัน สร้างรายได้ 35,000 บาท ต่อไร่

4. ฟักทอง เช่น ฟักทองลูกผสม พันธุ์ข้าวตอก 573 ระยะเวลาเริ่มเก็บเกี่ยว 75 วัน สร้างรายได้ 24,000 บาท ต่อไร่

5. แตงกวา แตงร้าน เช่น แตงกวาลูกผสม พันธุ์ธันเดอร์กรีน ระยะเวลาเริ่มเก็บเกี่ยว 30-32 วัน สร้างรายได้ 39,000 บาท ต่อไร่

6. ถั่วฝักยาว เช่น ถั่วฝักยาว พันธุ์ลำน้ำพอง ระยะเวลาเริ่มเก็บเกี่ยว 55-60 วัน สร้างรายได้ 60,000 บาท ต่อไร่

7. กลุ่มผักใบ เช่น ผักบุ้ง พันธุ์ยอดไผ่ 9 ระยะเวลาเริ่มเก็บเกี่ยว 20-21 วัน สร้างรายได้ 43,200 บาท ต่อไร่

“สำหรับ โครงการ “ศรแดงพืชน้ำน้อย ทางเลือกใหม่ช่วงภัยแล้ง” ในปีนี้ทางศรแดงได้จัดเตรียมทีมงานถ่ายทอดความรู้ (Knowledge Transfer) ซึ่งเป็นทีมงานที่พร้อมจะมอบองค์ความรู้ด้านการปลูกพืชน้ำน้อย ตั้งแต่การหยอดเมล็ด การใส่ปุ๋ย การดูแลรักษา จนถึงการเก็บเกี่ยวที่ให้เกษตรกรสามารถไปปฏิบัติได้จริง และในปัจจุบันทางทีมถ่ายทอดความรู้ได้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้การสื่อสาร และให้ความรู้กับกลุ่มเกษตรกรได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” คุณวิชัย กล่าวในที่สุด

หากเกษตรกรสนใจ โครงการ “ศรแดงพืชน้ำน้อย ทางเลือกใหม่ช่วงภัยแล้ง” สามารถติดตามกิจกรรมต่างๆ ของศรแดง ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ เช่น Facebook เมล็ดพันธุ์ตราศรแดง Line (@sorndaengseed) และ Website https://growhow.eastwestseed.com/th/th

บ้านโนนเขวา พลิกผืนนาปลูกพืชน้ำน้อย

พื้นที่บ้านโนนเขวา ตำบลดอนหัน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เป็นหนึ่งในชุมชนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการปลูกพืชน้ำน้อย สู้ภัยแล้ง ที่ บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด พาสื่อมวลชนเข้าไปเยี่ยมชมความสำเร็จของโครงการดังกล่าว

เดิมทีกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่นี้เคยทำนาเป็นอาชีพหลัก แต่ปัญหาใหญ่ที่พบเป็นประจำทุกปีคือ เรื่องน้ำที่มีไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร ทำให้เสี่ยงต่อการขาดทุน ชาวบ้านเลยหันมาปลูกพืชน้ำน้อยแทน โดยรวมกลุ่มกัน ในนาม “กลุ่มปลูกผักปลอดภัยบ้านโนนเขวา” กลุ่มนี้เน้นปลูกผักกลุ่มผักใบ เพราะใช้น้ำน้อยกว่า เก็บเกี่ยวได้ไวกว่า ปลูกได้ทั้งปี มีตลาดรองรับ

คุณคำปั่น โยแก้ว เกษตรกรตัวอย่างจากกลุ่มปลูกผักปลอดภัยบ้านโนนเขวา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ชุมชนบ้านโนนเขวา ไม่มีชาวบ้านทำนาเลย เพราะว่าทำนาต้องใช้น้ำมาก ถ้าทำนาบ้านเดียว อีกสิบบ้านก็ไม่มีน้ำทำการเกษตรกัน ชาวบ้านเลยหันมาปลูกพืชน้ำน้อยเป็นทางเลือก”

เมื่อปี 2561 คุณคำปั่น ทำนาบนเนื้อที่ 5 ไร่ ลงทุนไปประมาณ 12,000 บาท แต่เนื่องจากนาข้าวต้องใช้น้ำเยอะ และการดูแลอย่างทั่วถึง ประกอบกับภาวะอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ผลผลิตที่ออกมาไม่ดี เมล็ดข้าวลีบ ไม่ได้น้ำหนัก ก็ขาดทุนไป นอกจากนี้ คุณคำปั่น ยังแบ่งที่ดินอีกแปลง เนื้อที่ 4 ไร่ ปลูกพืชน้ำน้อย ประเภทผักใบ เช่น คะน้า ผักบุ้ง ผักกาดหอม ผักชี กวางตุ้ง สลับกันไป

“ผมปลูกผักบนพื้นที่ 4 ไร่ ผลผลิตส่วนใหญ่ 80% จะรวบรวมส่งขายห้างสรรพสินค้าในพื้นที่ และอีก 20% ขายในตลาดสด มีรายได้ตกวันละพันกว่าบาท พืชน้ำน้อยสามารถสร้างรายได้ให้ผมได้เกือบเดือนละ 30,000 บาท และผมสามารถปลูกได้ทั้งปี สร้างรายได้ให้ผมทั้งปี ผิดกับการทำนาที่ปีหนึ่งผมได้เงินรอบเดียว แถมยังต้องเสี่ยงกับภาวะน้ำน้อยอีก” คุณคำปั่น กล่าว

“มะนาว” ยังจัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่เกษตรกรเป็นจำนวนมากขยายพื้นที่ปลูก เป็นที่ทราบกันดีว่า มะนาวในบ้านเราเกษตรกรจะขายได้ราคาดี หรือมะนาวแพงที่สุดในช่วงเดือนมีนาคม-เดือนเมษายน เช่น ในเดือนเมษายน ปี 2562 เกษตรกรขายมะนาวจากสวนได้เฉลี่ย ผลละ 3.00-4.50 บาท ด้วยราคาที่ดึงดูดใจ ทำให้เกษตรกรมีความสนใจเทคนิคหรือแนวทางการทำมะนาวนอกฤดูกันเป็นจำนวนมาก บ้างก็สำเร็จและบ้างล้มเหลวก็มีมาก สวนคุณลี อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โทร. 081-886-7398 ที่ปลูกมะนาวเชิงการค้ามากว่า 15 ปี จึงขอถ่ายทอดแนวทางการผลิตมะนาวนอกฤดูเพื่อนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่

ก่อนอื่นต้องมีการเตรียมดินให้ดี พื้นที่ปลูกมะนาว เช่น ถ้าเป็นที่ดอน จะต้องปรับที่ไถพรวนให้ดินร่วนซุยและยกร่องปลูกแบบร่องลูกฟูก เราต้องเข้าใจธรรมชาติของมะนาวก่อนว่า มะนาวนั้นเป็นไม้แดดเป็นพืชที่ต้องการการระบายน้ำเป็นอย่างดี ระบบรากก็อ่อนแอมาก จึงมีหลักให้พิจารณาดังนี้ บริเวณที่ปลูกมะนาวต้องไม่มีน้ำท่วมขัง ทางที่ดีตอนปลูกให้เลือกทำเลดีๆ หรือยกร่องนิดหนึ่งก็ได้ ในเขตภาคกลางที่มีพื้นที่ลุ่ม เกษตรกรจะใช้วิธีขุดร่อง แล้วปลูกบนสันร่อง ต้นมะนาวถ้าแช่น้ำบ่อยๆ ใบจะเหลือง รากเน่าตายได้ ปลูกในพื้นที่ร่ม มะนาวเป็นพืชที่ต้องการแสงแดดเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่หากจะปลูกมะนาวให้ออกผลดก ต้นแข็งแรง ไม่เลื้อย จะต้องปลูกกลางแจ้ง ไม่มีต้นไม้อื่นแทรก หรือมีร่มเงาบัง

หาสายพันธุ์ดี จากต้นแม่พันธุ์ดีมาปลูก

โดยแนะนำให้ปลูกมะนาวในกลุ่มของพันธุ์ “แป้นรำไพ” เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ออกดอกติดผลตลอดทั้งปี ผลมีขนาดกลาง ทรงผลแป้น เปลือกบาง และน้ำมีกลิ่นหอม ที่สำคัญเป็นพันธุ์ที่ต้องการของตลาด ซึ่งที่สวนคุณลี เลือกใช้มะนาวสายพันธุ์ “แป้นดกพิเศษ” เนื่องจากเป็นมะนาวสายพันธุ์การค้าที่ตลาดยอมรับ ท่ารับซื้อมะนาวรับซื้อ ด้วยลักษณะของสายพันธุ์จะติดผลดก ติดผลเป็นพวง ผลใหญ่ ทรงผลแป้น เปลือกบาง น้ำเยอะ น้ำหอม เมล็ดน้อย

ในการคัดเลือกพันธุ์มะนาวดีมาปลูกนั้น จะต้องดูลักษณะของต้นแม่พันธุ์ที่เราต้องการจะขยายพันธุ์ ควรเป็นต้นสาวที่มีอายุต้นประมาณ 1 ปี และไม่เคยผ่านการราดสารหรือฉีดสารแพคโคลบิวทราโซลมาก่อน เพราะจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของกิ่งพันธุ์หลังจากที่ปลูกลงแปลงไปแล้ว สังเกตดูพบว่ากิ่งพันธุ์ที่ผ่านการราดสารจะเจริญเติบโตไม่ดี ประการต่อมาต้นมะนาวแม่พันธุ์จะต้องมีลักษณะของการติดผลดี ติดผลดกเป็นพวง พวงละประมาณ 7-10 ผล จะถือว่าดีมาก ลักษณะของใบใหญ่เป็นมัน นี่เป็นภาพรวมของการคัดเลือกต้นแม่พันธุ์

ก่อนหน้านี้การขยายพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมกันมากที่สุดคือ “การตอนกิ่ง” เพราะจะใช้เวลาไม่นาน นิยมทำกันช่วงต้นฤดูฝน เมื่อกิ่งตอนมีรากแล้วก็ควรจะนำมาชำเอาไว้ในถุงดำที่มีวัสดุปลูกเป็นขี้เถ้าแกลบดำ การชำควรจะชำราว 10 วัน ก็เพียงพอแล้ว (ซึ่งระยะดังกล่าวรากของกิ่งตอนจะแผ่พอดีเต็มถุงดำ) ข้อแนะนำในการชำกิ่งพันธุ์มะนาว ไม่จำเป็นต้องชำใต้ตาข่ายพรางแสงเลย ให้ชำไว้ในบริเวณกลางแจ้งได้เลย ให้ต้นมะนาวชินต่อสภาพ

แต่ถ้าเราเอากิ่งชำที่ชำไว้ใต้ตาข่ายพรางแสงไปปลูกในแปลง เรามักพบว่ากิ่งพันธุ์มักจะมีเปอร์เซ็นต์ของการตายค่อนข้างสูง และเวลาเอาไปปลูกให้แกะถุงดำออก ให้เอาส่วนของรากกิ่งพันธุ์มะนาวจุ่มน้ำ ให้ขี้เถ้าแกลบดำหลุดออก จนเหลือเพียงรากมะนาวเท่านั้น (ถ้าเราไม่ล้างเอาแกลบดำออก เวลาที่เราปลูกลงหลุมในแปลง เมื่อรดน้ำขี้เถ้าแกลบดำมันมักจะอุ้มน้ำไว้มาก ต้นมะนาวจะมีอาการใบเหลือง หรือไม่ก็จะเป็นโรคเชื้อรา เช่น รากเน่าและโคนเน่า และตายในเวลาต่อมา) ขั้นตอนของการล้างรากเอาขี้เถ้าแกลบดำออก เกษตรกรจะต้องตักน้ำใส่ถังพลาสติกหิ้วไปด้วย เพื่อสะดวกในการล้างราก ส่วนการปลูกไม่ต้องปลูกให้ลึกเกินไป ขุดหลุมให้ลึกประมาณ 10 เซนติเมตร ก็เพียงพอ แผ่รากมะนาวให้ทั่วหลุม จากนั้นกลบดินให้แน่น ปักไม้ไผ่ไว้ค้ำต้นไม่ให้ลมโยก ก็หาเศษหญ้าหรือเศษฟางมาคลุมบริเวณโคนต้นแล้วรดน้ำให้ชุ่ม เป็นอันเสร็จ ในกรณีที่เกษตรกรจะนำกิ่งตอนที่ตัดมาจากต้น แล้วลงปลูกในแปลงเลยก็สามารถทำได้ แต่เราพบว่ากิ่งพันธุ์จะมีการตั้งตัวและเติบโตช้ากว่าวิธีที่เราแนะนำไป

กิ่งตอนก็ใช้ได้แต่มะนาวค่อนข้างออกดอกติดผลดกมาก ต้นมะนาวที่ปลูกโดยกิ่งตอนมันก็จะโทรมเร็ว 2-4 ปี ก็ตายแล้ว ปัจจุบันที่สวนคุณลี จึงใช้การปลูกที่ได้จาก “การเสียบยอดมะนาวแป้นดกพิเศษบนต้นตอส้มต่างประเทศทั้งหมด” โดยต้นตอส้มที่นำมาใช้ เช่น ทรอยเยอร์ โวคาเมอเลียน่า คลีโอพัตรา เป็นต้น ซึ่งกว่า 10 ปี ที่ปลูกมะนาวแป้นดกพิเศษบนต้นตอส้มต่างประเทศนับว่าดีมาก ต้นมะนาวที่เสียบยอดบนต้นตอมีอายุยืน ต้นไม่โทรมเหมือนต้นที่ปลูกจากกิ่งตอน

ทางเลือกใหม่ของเกษตรกรที่คิดจะลงทุนปลูกมะนาวแป้นอย่างยั่งยืน โดยที่มะนาวจะมีอายุอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป นั่นคือ ใช้ต้นตอส้มต่างประเทศเป็นต้นตอ ซึ่งมีข้อมูลยืนยันทางวิชาการว่าต้านทานโรครากเน่าโคนเน่า เนื่องจากมีระบบรากที่แข็งแรง มีรากแก้ว รากแขนง ส่วนกิ่งตอนจะไม่มีรากแก้วเป็นระบบรากฝอย พอเชื้อโรคเข้าจะแพร่ระบาดมะนาวยืนตายอย่างรวดเร็ว รักษาแทบไม่ทัน

จากประสบการณ์ที่ปลูกมะนาวบนต้นตอพบข้อดีหลายประการ เช่น ลำต้นแข็งแรงทนทานต่อสภาพแล้งน้ำ สู้ได้แม้จะเอาใจใส่น้อยก็ตาม เพราะมีระบบรากที่หากินเก่ง แม้จะเป็นดินลูกรังก็เจริญเติบโตได้ดี หรือสภาพดินปนหิน ลดการเกิดโรคแคงเคอร์ (ขี้กลาก) โรคนี้ถือเป็นโรคประจำตัวของมะนาวแป้น โดยเฉพาะถ้าปลูกด้วยกิ่งตอน ในช่วงปีแรกเกษตรกรต้องเฝ้าดูแลรักษาโรคนี้ เพราะมะนาวแป้นจะอ่อนแอมาก แต่ว่าปลูกด้วยต้นตอส้มแล้วเอามะนาวแป้นมาเสียบ การเกิดโรคนี้ลดลงไปอย่างมาก

ลดการใช้ยาป้องกันกำจัดโรคแคงเคอร์ไปได้มาก การใช้สารเคมีพ่นจาก 7-10 วัน อาจห่างเป็น 15 วัน ต่อครั้ง ลดการใช้ไม้ค้ำช่วงติดผลดก หากปลูกด้วยกิ่งต้องจำเป็นต้องใช้ไม้ค้ำรอบทรงพุ่ม ถ้าคิดเป็นพื้นที่ 1 ไร่ ต้องใช้ไม้นับพันอัน คิดเป็นเงิน 5,000-6,000 บาท หากปลูกด้วยกิ่งเปลี่ยนยอดแทบจะไม่ต้องใช้ไม้ค้ำ เนื่องจากความแข็งแรงของกิ่งก้าน ทรงต้น สามารถแบกรับน้ำหนักผลมะนาวในต้นได้ โดยมิต้องใช้ไม้ค้ำช่วย บังคับออกนอกฤดูง่ายติดผลดก ต้นที่เปลี่ยนยอดจะขยันออกดอกอย่างเห็นได้ชัด โดยเกษตรกรเช็กข้อมูลได้ง่ายๆ โดยนำกิ่งมะนาวเสียบยอดไปปลูกแทรกในแถวมะนาวที่ปลูกด้วยกิ่งตอน ก็จะสังเกตได้ชัดว่าออกดอกง่ายกว่า สันนิษฐานว่าเกิดจากระบบลำเลียงน้ำและอาหารอาจไม่สะดวก โดยเฉพาะตรงรอยต่อ ทำให้มีผลต่อการออกดอกง่ายขึ้น และบริเวณโคนที่เป็นต้นตอส้มเหนือพื้นดินจะทนต่อการใช้ยาฆ่าหญ้า หากฉีดพ่นโดนบ้างก็ไม่เป็นไร กรณีโคนต้นรกมากกำจัดวัชพืชไม่ทัน จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าหญ้าช่วยจะประหยัดแรงงานได้มาก

การขุดหลุมเตรียมปลูกมะนาวด้วยกิ่งเสียบยอดเป็นต้นตอส้มต่างประเทศ หากเตรียมหลุมง่าย ควรขุดตามมาตรฐานทั่วไป 30×30 เซนติเมตร หาปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกเก่า ใส่คลุกเคล้าทิ้งไว้หลายๆ เดือนยิ่งดี จนไม่เกิดแก๊สในหลุม ถ้าเป็นดินลูกรังควรใช้สว่านใหญ่ ติดท้ายรถไถปั่นหลุมจะทำง่ายกว่าแรงงานคน แล้วผสมปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เช่นเดียวกัน ในช่วงของการปลูกกิ่งพันธุ์นับว่าสำคัญมาก ต้นไม้จะโต-ไม่โต อาจเกิดจากสาเหตุนี้ได้ คือปลูกแล้วต้นโยกคลอนทำให้ไม่โต

ดังนั้น เทคนิคการปลูกไม่ควรปลูกลึกเกินไป เน้นปลูกตื้นจะได้ระบบรากที่แข็งแรง และเมื่อปลูกแล้วควรยึดลำต้นกับหลักไม้ให้แน่น โดยใช้เชือกผูกกับหลักก่อน แล้วมัดยึดลำต้นอีกครั้งหนึ่ง วิธีนี้จะช่วยได้มาก นอกจากนี้ ปัญหาที่พบในการปลูกกิ่งเสียบยอดจากต้นตอก็คือ การเจริญเติบโตช้ากว่ากิ่งตอน วิธีที่จะให้โตเร็วคือ การเลี้ยงในถุงชำกลางแจ้ง การดูแลจะง่ายกว่าดูแลในแปลงปลูก เช่น ถอนหญ้า ใส่ปุ๋ย หมั่นลิดหน่อที่เกิดจากต้นตอช่วง 3 เดือนแรก ยิ่งลงทุนใช้ปุ๋ยละลายช้าใส่ในถุงชำจะโตเร็วต่อเนื่อง ชาวสวนบางท่านเมื่อปลูกลงแปลงใช้เทคนิคละลายปุ๋ยเม็ดสูตรเสมอ ผสมฮอร์โมนกระตุ้นรากหยอดรอบๆ โคนต้นทุก 10 วัน วิธีนี้ก็ได้ผลดี ต้นมะนาวโตเร็ว

แนะนำใช้ระยะปลูก 6×6 เมตร เกษตรกรบางรายคิดว่ามันห่างกันเกินไป แต่มะนาวจัดเป็นไม้ผลที่เจริญเติบโตเร็ว เพียงอายุต้นได้ 3 ปี ทรงพุ่มก็เกือบจะชนกันแล้ว ถ้าเราปลูกถี่ไปหรือชิดกันเกินไป พอกิ่งมันชนกันตรงส่วนที่ประสานกันนั้นมันมักจะติดผลไม่ค่อยดก

การดูแลมะนาวเล็ก สิ่งสำคัญมากคือ อย่าให้ขาดน้ำ โดยเฉพาะหลังจากที่ย้ายต้นปลูก แต่ปกติเกษตรกรมักจะปลูกกันในช่วงฤดูฝนหรือปลายฤดูฝน ทำให้เรื่องน้ำไม่เป็นปัญหาเท่าไรนัก การฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดโรค-แมลง การดูแลฉีดพ่นทุก 5-7 วัน ต่อครั้ง

แมลง ศัตรูที่สำคัญในมะนาวเล็ก คือ หนอนชอนใบ เพลี้ยไฟ ฯลฯ การดูแลรักษา บำรุงดูแลรักษาใบอย่างเดียว ปลูกช่วงมะนาวเล็ก อยากให้ทรงพุ่มสวย ก็ต้องใส่ปุ๋ย เป็นอย่างต้นมะนาวปลูกแล้วเอนไปทางซ้าย ก็ต้องใส่ปุ๋ยข้างขวามากหน่อย ต้นมันจะตั้งตรงขึ้นมา ส่วนต้นพุ่มสวยปกติ ก็ใส่บริเวณทรงพุ่มมะนาว โคนต้นควรสูงราว 1 ศอก

เอาลูกมะนาวตอนอายุ 1 ปี ถ้ามีการบำรุงดีด้วยนะ ถ้าดูแลดีก็จะได้พุ่มเกือบ 2 เมตรเลย

จะทำนอกฤดูเดือนกรกฎาคม ต้องเริ่มเตรียมต้น พอเดือนตุลาคมฝนจะหมดแล้วมันก็จะติดยากแล้ว คือทำออกได้ แต่ไม่ได้ลูก เพราะเพลี้ยไฟจะระบาดมาก ปัญหาชาวสวน จะต้องดูแลมะนาวให้ถึง ฉีดยาถึง ใส่ปุ๋ยถึง ถ้าลูกดกไม่ดูแลเลย มะนาวโทรมตาย บนต้นมะนาวยังไงก็ไม่หมดต้น เพราะเดือนกรกฎาคมเป็นช่วงมะนาวปีอยู่ เราต้องเก็บขายตลอด ปลิดทิ้งก็ไม่ไหว ก็ต้องบำรุงอยู่ตลอดเวลา เก็บผลขายตลอด

พอเดือนกรกฎาคม จะเป็นการเริ่มทำนอกฤดูโดยเตรียมต้น ใส่ปุ๋ยสูตรเร่งดอก เช่น 8-24-24 เดือนละ 1 ครั้ง ใส่ 4 เดือนติดกันเลย อย่าง มะนาวอายุ 3 ปี ใส่ต้นละ 1 กิโลกรัม เป็นอย่างต่ำ มะนาวใส่น้อยไม่ได้ มะนาวกินเท่าไรก็ไม่พอ ต้นมะนาวจะยังต้องเลี้ยงมะนาวบนต้นอีก และสร้างตาดอกอีก ต้องให้มันกินเหลือ ให้น้อยมันเลี้ยงลูกบนต้นไม่พอปลูกมะนาว จะต้องตัดแต่งกิ่ง

ข้อเสียของการไม่ตัดแต่งกิ่ง เกิดความยุ่งยากในการเข้าไปปฏิบัติงานไม่ว่าจะใส่ปุ๋ย รดน้ำ หรือเก็บผลผลิต เพราะหากมะนาวมีทรงพุ่มทึบ ผู้เข้าไปปฏิบัติงานจะโดนหนามมะนาวทิ่มแทง ทำให้บาดเจ็บได้ เมื่อทรงพุ่มทึบแสงแดดส่องได้ไม่ทั่วถึงการติดผลจะลดลง หรือไม่ติดเลย เป็นแหล่งสะสมของโรค แมลง ทำให้มะนาวอายุสั้น เพราะไม่มีการกระตุ้นให้เกิดกิ่งใหม่ๆ กิ่งเก่าจะแห้งและตายในที่สุด

ข้อดีของการตัดแต่งกิ่ง เข้าไปปฏิบัติงานได้สะดวก ไม่ต้องคอยเจ็บตัวกับหนามอันแหลมคมของต้นมะนาว ทรงพุ่มโปร่ง แสงแดดส่องทั่วถึง ทำให้การติดผลดกและกระจายโดยรอบ ลดการสะสมของโรค-แมลง การที่ทรงพุ่มโปร่งแสงแดดจะส่องเข้าได้ทั่วทั้งต้น โรคและแมลงบางชนิดจะลดลง มะนาวอายุยืน เพราะมีกิ่งใหม่ๆ มาแทนกิ่งเก่าเสมอ จำไว้เสมอว่า “กิ่งใหม่ออกลูกดีกว่ากิ่งเก่า”

อีกเคล็ดลับหนึ่งของ คุณมานิด คือการให้ปุ๋ยทางดินกับต้นมะนาวเล็ก จะให้ 20 วัน ต่อครั้ง ปุ๋ยที่ให้จะใช้ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ผสมน้ำรดให้ อัตราที่ใช้ คือ ปุ๋ยยูเรีย 1 กิโลกรัม ผสมกับน้ำ 10 ลิตร ประมาณการให้ปุ๋ยยูเรียที่ละลายน้ำแล้ว ต่อต้น ประมาณ 1 แก้วน้ำ ต่อต้น แต่ก่อนที่จะให้ปุ๋ยแก่ต้นมะนาว ดินควรมีความชื้นเพื่อที่จะทำให้ต้นมะนาวสามารถดูดใช้ปุ๋ยได้ดีขึ้น แต่การราดปุ๋ยระวังอย่ารดปุ๋ยให้ชิดโคนต้นมะนาว ให้ห่างออกมาอย่างน้อย 1 คืบ คือการใส่ปุ๋ยยูเรียบำรุงต้นมะนาวเล็ก เปรียบเทียบกับการใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ พบว่าการใช้ปุ๋ยยูเรียให้ต้นจะโตเร็วกว่าอย่างเห็นได้ชัด ต้นที่ให้ปุ๋ยยูเรียอายุ 1 ปี จะสูงถึง 1.50-1.70 เมตร เลยทีเดียว

แต่เราจะมาหยุดให้ปุ๋ยยูเรียก็ต่อเมื่อช่วงที่จะเตรียมออกดอกเท่านั้น ต้นมะนาวเล็กมักมีกิ่งกระโดงให้เด็ดปลายยอดทิ้ง ไม่นานกิ่งกระโดงที่ถูกเด็ดยอดอ่อนทิ้ง มันจะแตกพุ่มอ่อนออกมาอีกจำนวนมาก พุ่มมะนาวเล็กของเราก็จะขยายใหญ่ขึ้นอีก

หลายปีที่ผ่านมา สำนักงานปศุสัตว์อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ได้เข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อพัฒนาระบบการเลี้ยงไก่ไข่ของเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ จากเดิมที่เคยเน้นการเลี้ยงบนกรงตับ มาเป็นการเลี้ยงแม่ไก่อารมณ์ดี ที่ใช้ระบบการปล่อยอิสระ เน้นการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นเป็นอาหารสัตว์ เพื่อลดต้นทุนในการเลี้ยง กลายเป็นรูปแบบการเลี้ยงที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรในพื้นที่เป็นอย่างมาก เพราะลดต้นทุนโรงเรือน มีพื้นที่ปล่อยลานแบบอิสระ แม่ไก่มีความสุข สามารถให้ไข่ได้ มาตรฐานและปลอดสารตกค้าง เกษตรกรมีไข่ไว้บริโภคในครัวเรือน เหลือบริโภคสามารถจำหน่ายในชุมชน

สูตรการเลี้ยงแม่ไก่อารมณ์ดีนั้น แนะนำให้เกษตรกรเลี้ยง ในอัตรา เพศผู้ 1 ตัว ต่อเพศเมีย 5 ตัว โดยเลี้ยงไก่ 5 ตัว ต่อตารางเมตร รอบโรงเรือนมีพื้นที่ปล่อยลานแบบอิสระ 10-15 ตารางเมตร ต่อตัว มีรั้วสามารถป้องกันศัตรูและสัตว์พาหะได้ แม่ไก่จะเริ่มให้ไข่ฟองแรก เมื่ออายุ 4 เดือน 6 วัน

แนะนำให้เกษตรกรทำวัคซีนป้องกันโรคระบาดที่สำคัญในไก่ไข่ และการถ่ายพยาธิ รวมทั้งหมั่นสังเกตอาการ สุขภาพของสัตว์ปีก เสริมวิตามิน เกลือแร่ การจัดการสิ่งแวดล้อมที่อยู่ของสัตว์ปีกให้เหมาะสม เช่น อย่าให้ลมโกรก ให้อยู่ในที่อุณหภูมิพอเหมาะ จัดให้มีเล้าหรือโรงเรือนสำหรับสัตว์ปีกนอนในตอนกลางคืน สามารถป้องกันแดด ฝน ลม และพาหะนำโรคระบาดสัตว์ได้ อีกทั้งยังง่ายต่อการดูแลสุขภาพสัตว์ปีกอีกด้วย และต้องใช้หลักความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ในการป้องกันเชื้อโรคเข้ามาในฟาร์ม เช่น การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรค การควบคุมคนหรือยานพาหนะเข้า-ออกฟาร์ม การมีเล้าหรือโรงเรือนเพื่อป้องกันพาหะนำโรค เป็นต้นสูตรอาหาร ใช้ต้นกล้วยหมัก

สำนักงานปศุสัตว์อำเภอศรีเชียงใหม่แนะนำให้เกษตรกรจัดการอาหารสัตว์ โดยใช้ต้นกล้วยหมักเป็นหลักร่วมกับวัตถุดิบอาหารพลังงานอื่นในท้องถิ่น โดยให้อาหาร 2 มื้อ เช้า-เย็น มีการปล่อยลานตามธรรมชาติโดยอิสระ เสริมเศษผัก เศษอาหาร ผลไม้สุกตามฤดูกาล สำหรับ สูตรอาหารต้นกล้วยหมัก 5 วัน มีส่วนประกอบสำคัญได้แก่ ต้นกล้วยสับ 30 กิโลกรัมน้ำตาลทรายแดง หรือน้ำอ้อย 1 กิโลกรัม ดินแดง 2 กิโลกรัม รำหยาบ 30 กิโลกรัม เกลือ 2 ช้อนแกง ขี้วัวแห้ง 4 กิโลกรัม ปลายข้าว 1 กิโลกรัม ซึ่งอาหารสูตรนี้ มีต้นทุนค่าอาหาร เฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.32 บาท เท่านั้น ทั้งนี้ ทางสำนักงานปศุสัตว์อำเภอศรีเชียงใหม่ ได้มีการนำอาหารหมักดังกล่าวไปตรวจสอบเปอร์เซ็นต์โปรตีน พบว่า มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนถึง 15.3% เหมาะสำหรับใช้ ไก่ไข่ ในช่วงอายุ 3 เดือน ขึ้นไป

ขั้นตอนการผลิต นำส่วนผสมต่างๆ มาผสมให้เข้ากัน แล้วหมักทิ้งไว้ ประมาณ 5 วัน ก็จะสามารถนำไปผสมกับวัตถุดิบอื่น เช่น อาหารข้น 14-21% โปรตีน รำ ปลายข้าว ให้กับไก่ไข่ที่เลี้ยงได้ ส่วนการนำไปใช้เลี้ยงไก่ไข่ มีสูตรแนะนำถึงสัดส่วนการใช้อาหารผสม สำหรับเกษตรกรรายย่อย ดังนี้

ระยะที่ 1 ช่วงแรกเกิด-1.5 เดือน ให้กินอาหารข้นเป็นหลัก จำนวน 10 กิโลกรัม ระยะที่ 2 ช่วงอายุ 1.5-3 เดือน ให้กินอาหารผสมที่ส่วนผสมของอาหารข้น 6 กิโลกรัม รำ 2 กิโลกรัม ปลายข้าว 2 กิโลกรัม

ระยะที่ 3 ช่วงอายุ 3-4 เดือน ให้กินอาหารผสมที่ส่วนผสมของอาหารข้น 5 กิโลกรัม รำ 1 กิโลกรัม ปลายข้าว 1 กิโลกรัม และอาหารหมัก 1 กิโลกรัม

ระยะที่ 4 ช่วงอายุ 4-5 เดือน ให้กินอาหารผสมที่ส่วนผสมของอาหารข้น 3 กิโลกรัม รำ 1 กิโลกรัม ปลายข้าว 1 กิโลกรัม และอาหารหมัก 5 กิโลกรัม

ระยะที่ 5 ช่วงอายุ 5 เดือน จนถึงปลด ให้กินอาหารผสมที่ส่วนผสมของอาหารข้น 2 กิโลกรัม ปลายข้าว 1 กิโลกรัม และอาหารหมัก 7 กิโลกรัม

ภายหลังจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอศรีเชียงใหม่ได้แนะนำให้เกษตรกรเลี้ยงแม่ไก่อารมณ์ดี ที่ใช้ระบบการปล่อยอิสระดังกล่าว พบว่า มีไข่ไก่อินทรีย์ที่ไม่มีสารตกค้างสำหรับบริโภคในท้องถิ่นอย่างเพียงพอ ส่วนที่เหลือยังสามารถนำไปจำหน่ายในตลาดสีเขียวได้อีก โดยเกษตรกรสามารถไข่ไก่อินทรีย์ ไม่ต่ำกว่าฟองละ 6-8 บาท

นายปริญญา ภาจิตรยรรยง รองกรรมการผู้จัดการ และ นางพรรณินี นันทพานิช รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมให้การต้อนรับ นายสันติ วิริยะรังสฤษฎ์ ประธานจัดงานมหกรรมการเงิน หรือ มันนี่ เอ็กซ์โป เข้าเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ณ บู๊ธซีพีเอฟ ในพิธีเปิดงาน มันนี่ เอ็กซ์โป ครั้งที่ 19 ที่ยกขบวนผลิตภัณฑ์สินค้า แบรนด์ ซีพี ทั้งอาหารและเครื่องดื่มคุณภาพสูง มาให้นักลงทุนและผู้ร่วมงานได้อิ่มอร่อยจุใจ ทั้งข้าวมันไก่ ข้าวหน้าเป็ด ข้าวไข่เจียว ลูกชิ้นปลา และไส้กรอกทอด พร้อมด้วยกาแฟสด Star Coffee และ ชาไข่มุกพรีเมียม ละมุน ชาบาร์ โดยสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปแช่เย็นและแช่แข็งยอดนิยมได้ด้วยแคมเปญพิเศษสุด ตั้งแต่ เกี๊ยวกุ้ง ไก่ปรุงรสทุกรสชาติ สเต๊กหมูดำคูโรบูตะ ไส้กรอก ผลไม้ลอยแก้ว และอาหารอื่นๆ อีกมากมาย ระหว่างวันที่ 16-19 พฤษภาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น. ณ บู๊ธซีพีเอฟ เลขที่ H1 อาคารชาเลนเจอร์ 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี