ทุ่ม 2 หมื่นล้าน ดันโปรเจ็กต์ “เกษตรอัจฉริยะ 2 ปี ทำน้อยได้มาก”

“เฉลิมชัย” ทุ่มกว่า 2 หมื่นล้าน ยกเครื่องแผนภาคเกษตร ดึงเอกชนเทคโนโลยี ปั้นโปรเจ็กต์ “เกษตรอัจฉริยะ 2 ปี ทำน้อย ได้มาก” หวังเพิ่มราคาสินค้าไม่ต่ำกว่า 3% พาเกษตรกรพ้นความจน 20% ปลดล็อค หนี้สิน พ้นวิกฤตโควิด ลั่นปีงบฯใหม่ดันงานวิจัย พัฒนาบุคลากร ยังปัดตอบแผนทำงาน 4 หน่วยงาน “ปลัด” ชี้โควิด-19 ภาคเกษตรดันจีดีพีไทย เป็นภาคเดียวที่ไม่ติดลบ พร้อมเดินหน้าสร้างความมั่นคงเรื่องอาหารได้

วันที่ 7 ตุลาคม 2564 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายและเปิดตัวแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะ ปี พ.ศ. 2565-2566 แก่เกษตรจังหวัดทั่วประเทศ ผ่านระบบการประชุมทางไกล (zoom meeting) ว่า เพื่อให้สอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล ได้กำหนดให้มีแผนแม่บทด้านการเกษตรและแผนย่อยเกษตรอัจฉริยะ ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ด้วยการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร

มีเป้าหมายสำคัญให้เกิดการทำเกษตรแบบทำน้อยได้มาก ทั้งนี้ ยังเร่งพัฒนาบุคลากรในหน่วยงาน ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคให้มีความพร้อมทั้งด้านวิจัยและพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ รวมถึงการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รัฐและเกษตรกร สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และช่วยเป็นครูผู้ฝึกหรือเทรนเนอร์ ให้แก่เกษตรกร โดยมุ่งเน้นทั้ง Smart Farmer และ Young Smart Farmer ตลอดจนผู้นำเกษตรกรของ ศพก. และแปลงใหญ่ มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาแปลงใหญ่เกษตรอัจฉริยะให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในทุก ๆ จังหวัดของประเทศ และให้เข้าถึงทุกอำเภอภายใน 3 ปีให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

“ผมได้สั่งงานให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ ของกระทรวงเกษตรฯ ในการขับเคลื่อนแผนงานนี้ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ ได้มีการขอไปทางฝ่ายแผนให้บรรจุงบประมาณในการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะลงไปในปีงบประมาณ 2566 ด้วย เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างแท้จริง ซึ่งทั้งหมดนี้จะสำเร็จได้ ทุกหน่วยต้องช่วยกัน ทั้งในส่วนของภาครัฐ ดึงงานวิจัย พัฒนาบุคลากร ภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ หากรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้ โครงการนี้เราจะเดินไปเก็บเกี่ยวผลสำเร็จในอนาคตข้างหน้าร่วมกัน เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่กระทรวงฯ หวังไว้อยากให้เกิดขึ้น เพื่อให้เกษตรกรพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวสอบถามนายเฉลิมชัยถึงประเด็นการแบ่งงานปีงบประมาณ 2565 ของ 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1.กรมฝนหลวงและการบินเกษตร 2.กรมพัฒนาที่ดิน 3.สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และ 4.องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) นายเฉลิมชัยยังปฏิเสธการให้สัมภาษณ์

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สานต่อการทำงานด้านเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการจัดทำแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี พ.ศ. 2565-2566 โดยกระทรวงเกษตรฯร่วมกับผู้แทนของหน่วยงานภายนอกกว่า 200 คน ทั้งจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

โดยมีเป้าหมายแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะระยะโครงการ 2 ปี ดังกล่าวอยู่ภายใต้งบประมาณมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อยกระดับเกษตรกรไทยให้พ้นกับดักความยากจน ลดจำนวนเกษตรกรที่อยู่ภายใต้เส้นความยากจนที่มีรายได้ประมาณ 3,000 บาท/ปี ลงปีละประมาณ 10% หรือเฉลี่ย 2 ปีเกษตรกรที่มีความยากจนจะลดลงประมาณ 20% จากปัจจุบัน ด้วยการพัฒนาผลผลิตภาคเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 3% ผลักดันให้จีดีพีภาคเกษตรให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในจีดีพีของประเทศ เพื่อให้ภาคเกษตรไทยสามารถค้ำจุนเศรษฐกิจของประเทศได้ ซึ่งขณะนี้จีดีพีภาคเกษตรมีสัดส่วนประมาณ 5.8% ของจีดีพีประเทศ

อย่างไรก็ตาม การเร่งขับเคลื่อนภาคเกษตรให้เติบโตได้ ภายใต้คอนเซ็ปต์ทำน้อยได้มาก จะดำเนินการโดยการทำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ที่คนส่วนใหญ่ต้องทำงานที่บ้าน ลดการสัมผัสใกล้ชิดกัน แต่ภาคเกษตรต้องเดินหน้าสร้างความมั่นคงด้านอาหาร หลังจากการระบาดของโควิด-19 ภาคเกษตรแม้จะมีการเติบโตน้อยลง แต่น่าจะเป็นภาคเดียวที่ไม่ติดลบ ยังเดินหน้าสร้างความมั่นคงเรื่องอาหารได้ ดังนั้นงบประมาณที่จัดสรรมาจะนำไปใช้ทั้งเรื่องของการวิจัย การพัฒนาคน และยกระดับสินค้าการเกษตร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยความคืบหน้าโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ เดินหน้าสนับสนุนเกษตรกรทั่วประเทศฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยน้อมนำหลักปรัชญาเกษตรทฤษฎีใหม่มาเป็นแนวทาง ในขณะนี้เกษตรกรได้รับการพัฒนาให้มีความมั่นคงในอาชีพในพื้นที่ 2,159 ตำบล 508 อำเภอ 70 จังหวัดทั่วประเทศ

วันที่ 8 ตุลาคม 2564 นายสำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานโครงการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 บรรเทาปัญหาการว่างงาน ลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคการเกษตรกรรมไปสู่ภาคอื่นๆ และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในท้องถิ่นให้มีความมั่นคงในการเป็นแหล่งผลิตอาหาร มีทางเลือก มีอาหาร มีอาชีพ มีความอุดมสมบูรณ์ มีความอบอุ่นจากครอบครัว แล้วความสุขตามวิถีชีวิตพอเพียงก็จะเกิดขึ้นกับชุมชน ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เป็นทางรอดของเกษตรกรไทย เพื่อมุ่งสู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน

จากการดำเนินงานโครงการดังกล่าว ในปีงบประมาณ 2564 เกษตรกรได้รับการพัฒนาให้มีความมั่นคงในอาชีพทำเกษตรกรรมยั่งยืนและมีแปลงต้นแบบเพื่อการเรียนรู้ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ ในพื้นที่ 2,159 ตำบล 508 อำเภอ 70 จังหวัดทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2564) เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีพื้นที่กักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น มีอาชีพ มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สร้างความพึงพอใจให้กับอาชีพเกษตรกร และส่งเสริมการผลิตภาคการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เกษตรกรจะมีความรู้ความเข้าใจ และเรียนรู้แนวคิด หลักการ และรูปแบบของเกษตรทฤษฎีใหม่ในการบริหารจัดการน้ำ เรียนรู้การจัดทำแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยคำนึงถึงการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ที่สามารถสร้างแหล่งอาหารของครัวเรือน ผลผลิตที่สามารถจำหน่ายสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรและพึ่งตนเองด้านปัจจัยการผลิตให้มากที่สุด โดยขณะนี้โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ได้ดำเนินงานรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว และปรากฏผลเป็นรูปธรรมในพื้นที่เกษตรกรหลายแห่งทั่วประเทศ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งจะสรุปผลสำเร็จและประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการในภาพรวมอีกครั้งหนึ่ง

ในการดำเนินโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ระดมพลังทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง เพื่อทำงานประสานสอดคล้องกัน ให้มีประสิทธิภาพที่สุดในการสนับสนุนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในทุกๆ ด้าน ในด้านการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรในด้านเกษตรทฤษฎีใหม่

ในด้านการสนับสนุนปัจจัยการผลิตก็ได้มีการสนับสนุนวัสดุปรับปรุงบำรุงดินแก่เกษตรกร เช่น น้ำหมักชีวภาพ พืชปุ๋ยสด ฯลฯ สนับสนุนพันธุ์ปลาและอาหารสัตว์น้ำ สนับสนุนพันธุ์พืช ทั้งไม้ผล เมล็ดพันธุ์ผัก สมุนไพร ฯลฯ สนับสนุนพันธุ์สัตว์ เช่น ไก่ไข่ ไก่พื้นเมือง และปัจจัยการผลิตเพื่อทำอาหารสัตว์

นอกจากนั้นยังมีการให้ความรู้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบภาพยนตร์สั้น การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อวิทยุ บทความทางหนังสือพิมพ์ เป็นต้น รวมไปถึงการจัดทำสื่อออนไลน์ เช่น Youtube Channel, Twitter Account และ Facebook Fanpage กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้เปิดช่องทางในการสื่อสารกับประชาชนในเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่

ตามช่องทางต่าง ๆ เช่น Call Center, Face Book, Line, WEB Site เป็นต้น เพื่อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูล แจ้งปัญหา อุปสรรค ตลอดจนข้อเสนอแนะ ในการดำเนินโครงการ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว สร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน ซึ่งผลการสำรวจการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนที่มีต่อประเด็นสื่อสารสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 พบว่าโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ มีผลการสำรวจการรับรู้ถึงร้อยละ 91.8

“เราได้มีการติดตามและประเมินผล ในทุกขั้นตอนการปฏิบัติงาน เพื่อติดตามความสำเร็จของงาน และหาโอกาสในการปรับปรุงเพื่อให้การปฏิบัติงานของโครงการดีขึ้น กระทรวงเกษตรฯ มั่นใจว่าโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ นอกจากจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะสั้นแล้ว ยังช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว เกษตรกรสามารถเลี้ยงตนเองและสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้อย่างพอเพียงและยั่งยืนอีกด้วย”

คุณหญิงกัลยา ให้ความมั่นใจเรียนจบเกษตรมีงานทำทุกคน เตรียมยกระดับ 47 วิทยาลัยเกษตร เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เชื่อเป็นหัวหอกสำคัญนำพาประเทศก้าวฝ่าวิกฤตทุกเรื่อง

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมผู้บริหารกระทรวงฯ ร่วมเปิดงานโครงการ “MCAT FARM และ K FARM Koffee” และเปิดอาคารศูนย์การเรียนรู้ Excellent Center ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) มหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม

โดยคุณหญิงกัลยา กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีความมุ่งมั่น ที่จะยกระดับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) ทั้ง 47 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างโอกาส และผลิตผู้ประกอบการ โดยการเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านการเกษตรแต่ละพื้นที่ ผนวกกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะและเสริมสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพ โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับผู้เรียนอาชีวศึกษาเกษตรให้มีอาชีพที่มั่นคง สร้างผู้ผลิต สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่

นอกจากนี้จะผลักดันในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านการเกษตรรูปแบบใหม่ไม่เฉพาะแต่ภายในประเทศเท่านั้นแต่จะเปิดโอกาสให้ต่างประเทศที่สนใจเข้ามาเรียนรู้เรื่องการเกษตรครบวงจร ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงเชิงพาณิชย์ พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ในรูปแบบของธุรกิจท่องเที่ยว โดยใช้ “เกษตรนำ ท่องเที่ยวตาม” ซึ่งเป็นการนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในวิทยาลัยเกษตรฯ มาผนวกกับการท่องเที่ยวเกษตรผสมผสานด้วยระบบการบริหารจัดการที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของบุคลากร นักเรียน นักศึกษา

สำหรับโครงการ “MCAT FARM และ K FARM Koffee” ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคามนี้ถือเป็นโมเดลต้นแบบให้กับวิทยาลัยเกษตรฯ ทั้งหมด ในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ด้วยห้องเรียนมีชีวิต พัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลงในยุค Disruption ให้กับผู้เรียนอาชีวศึกษาเกษตรก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยี สามารถพัฒนาไปสู่ผู้ประกอบการมืออาชีพ มั่นใจว่าเรียนเกษตรจบมามีงานทำทุกคน และอาชีพเกษตรต่อไปจากนี้เชื่อว่าจะเป็นหัวหอกสำคัญที่จะนำพาประเทศก้าวฝ่าวิกฤตทุกเรื่องไปได้

ด้าน ดร.ศุภชัย ศรีหล้า ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการ “MCAT FARM และ K FARM Koffee” ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม นอกจากจะเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้เรียนอาชีวศึกษาเกษตรแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางเกษตรที่สำคัญสำหรับประชาชนในเขตจังหวัดมหาสารคามและใกล้เคียง ทั้งยังเป็นแหล่งจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรและเป็นแหล่งการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรอีกแห่งหนึ่งที่เป็นแบบอย่างในการจัดการศึกษา โดยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันอาชีวศึกษาเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับบริษัท เค ฟาร์ม คอฟฟี่ จำกัด ที่ร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาการจัดการเรียนรู้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและผู้เรียนเกิดทักษะและความมั่นคงในกาประกอบอาชีพ

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือ COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-12 พฤศจิกายน 2021 ซึ่งมีผู้นำทั่วโลกกว่า 120 ประเทศ พร้อมผู้เข้าร่วมประชุมอีก 25,000 คน ได้ปิดฉากลงไปแล้ว

บทสรุปจากเวทีครั้งนี้มีพันธสัญญาร่วมกันว่าจะจำกัดการเพิ่มขึ้นอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่ละประเทศจะต้องไม่ตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030 และระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2050 หรืออีก 29 ปีข้างหน้า และต้องลดการปล่อยก๊าซมีเทนลง 30 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับระดับปี 2020

อย่างไรก็ดี ผู้สันทัดกรณียังมองว่าคำมั่นสัญญาดังกล่าวนี้เป็นเพียงคำขายฝัน เพราะในความเป็นจริงทุก 1 องศาเซลเซียสที่สูงขึ้น ปริมาณน้ำในอากาศจะเพิ่มขึ้น 7-10 เปอร์เซ็นต์ และในอนาคตฤดูมรสุมฝนจะมากกว่าปกติ 1-3 เท่า ฤดูแล้งจะแล้งกว่า 3-4 เท่า

ขณะเดียวกัน ผู้นำจีนและอินเดียก็เลือกไม่เข้าประชุม แสดงให้เห็นถึงความคิดที่แตกต่างกันระหว่างประเทศพัฒนากับประเทศกำลังพัฒนา

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของสาธารณรัฐประชาชนจีนให้ข้อคิดว่า “สมาชิก G20 ควรเป็นผู้นำส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และการจัดการเงินทุนให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อจะได้บรรลุเป้าหมายตามพันธกรณีอย่างจริงจัง”

ไม่ว่าผลการประชุม COP26 จะเป็นอย่างไร ที่แน่ ๆ เราได้เห็นปรากฏการณ์โลกรวน (climate change) ขึ้นเรื่อย ๆ จากภัยธรรมชาติที่รุนแรงและบ่อยครั้ง ที่สำคัญภัยนี้เข้าใกล้ตัวมากขึ้น

เห็นได้จากมรสุมหลายระลอกซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน เข้าประเทศไทยในปีนี้น้ำในแม่น้ำเกือบทุกสายขึ้นล้นตลิ่งแบบไม่ทันได้ตั้งตัว รวมถึงภาวะฝุ่นละอองที่เพิ่มสูงขึ้นจนทำให้เราต้องนั่งจับจ้องค่า PM 2.5 แทนตัวเลขจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในแต่ละวัน

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เราอาจมองข้ามไป คือ จำนวนประชากรโลกในอีก 50 ปีข้างหน้า ประชากรจะเพิ่มจาก 6.2 พันล้านคน เป็น 9.5 พันล้านคน ขณะที่ปัจจุบันเรใช้พื้นที่ที่มีศักยภาพในการทำการเกษตรถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อถึงตอนนั้นการเกษตรแบบดั้งเดิมจะเลี้ยงคนทั่วโลกได้อย่างไรเราคงนึกภาพนี้ไม่ออก

จากที่เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” จึงเป็นที่มาของการต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรใหม่ผสมผสานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน และหนึ่งในรูปแบบที่มาแรง คือ การทำเกษตรแบบแนวตั้ง “vertical farming” ซึ่งมีการดำเนินการแล้วในอดีตเมื่อ 600 ปีก่อนคริสตกาล

ได้แก่ การทำสวนลอยที่บาบิโลน (Hanging Gardens) ตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำยูเฟรติส ประเทศอิรักในปัจจุบัน ที่สร้างเป็นระเบียงสูงถึง 100 เมตร ทุกชั้นได้รับการตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ยืนพุ่มชนิดต่าง ๆ มีระบบชลประทานชักน้ำจากแม่น้ำยูเฟรติสไปเลี้ยงต้นไม้ได้ตลอดปี

สำหรับปัจจุบันแนวคิดเรื่องเกษตรแนวตั้ง เกิดขึ้นเมื่อปี 1999 จากผลการศึกษาของศาสตราจารย์ดิกสัน เดสปอมเมียร์ (Dickson Despommier) แห่งภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยโคลอมเบีย สหรัฐอเมริกา

ที่วางรูปแบบการเพาะปลูกในโรงเรือนมีหลังคาลักษณะเป็นชั้น ๆ เพาะเลี้ยงพืชโดยไม่ต้องใช้ดิน และนำเทคโนโลยีมาควบคุมอุณหภูมิ ปริมาณน้ำ สารอาหาร ใช้แสงไฟ LED แทนแสงแดด ทำให้สามารถควบคุมปัจจัยภายนอกได้ดีกว่าการปลูกกลางแจ้งที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติ ไม่ต้องใช้พื้นที่กว้างใหญ่ที่กว่าจะรดน้ำพรวนดินแต่ละครั้งกินเวลาเป็นวัน ๆ

vertical farming เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว สิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่ทำสวนผักแนวตั้งเชิงพาณิชย์ชื่อ Singapore Sky Green Farm ปลูกผักในเรือนกระจกขนาดใหญ่ มีทั้งหมด 120 ล็อก ให้ผลผลิตกว่า 0.5 ตัน โดยใช้เวลาเพาะปลูกสั้นมาก เก็บเกี่ยวเสร็จหมดเพียง 4 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม vertical farming ที่ผมตะลึงที่สุด คือ AppHarvest เรือนกระจกใหญ่ที่สุดในโลก มีพื้นที่กว่า 150 ไร่อยู่ริมเขาในเมือง Appalachia มลรัฐ Kentucky ซึ่งเคยเป็นเหมืองถ่านหินที่ถูกปิดไปแล้ว เป็นเรือนกระจกปลูกมะเขือเทศที่ชุบชีวิตเมืองซึ่งประชากรเคยมีรายได้ต่ำสุดให้กลับมาเจริญมีชีวิตชีวา

นับจากปี 2020 ที่เริ่มเปิดดำเนินการการปลูกมะเขือเทศด้วย vertical farming แห่งนี้ ใช้พื้นที่น้อยกว่าแนวราบมาก แต่ได้ผลผลิตมากกว่า 30 เท่า ใช้น้ำน้อยกว่าถึง 90 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ต้องใช้ดินเลย

มีเซ็นเซอร์กระจายอยู่กว่า 300 จุด และมีปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะ (AI) ควบคุมสภาพแวดล้อมและมีสารอาหารและน้ำเพียงพอเพื่อดูแลมะเขือเทศกว่า 7 แสนต้น และที่น่าอัศจรรย์ที่สุด คือ การใช้หุ่นยนต์มาเก็บเกี่ยวมะเขือเทศ เจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้มีตาวิเศษที่รู้ว่ามะเขือเทศผลใดสุก แถมยังมีมือวิเศษยื่นออกไปตัดผลมะเขือเทศจากต้นได้อย่างคล่องแคล่วเร็วกว่าฝีมือมนุษย์

จอช เลสซิง (Josh Lessing) ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีของ AppHarvest กล่าวว่า “การทำการเกษตรเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโลกรวน จึงต้องเนรมิตให้เกิดวิถีเกษตรรูปแบบใหม่ที่ต้องทำต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ตอบโจทย์การเติบโตยั่งยืนด้วยการไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่สร้างมลพิษให้สิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับการทำเกษตรแบบดั้งเดิม”

นอกจากนี้ ยังมีความพยายามของมนุษย์ที่จะคิด vertical farming ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง เช่น การปลูกผักสลัดและสตรอว์เบอรี่ในอุโมงค์ลอดภูเขายาวถึง 600 เมตรที่ไม่ได้ใช้งานแล้วในเมือง Chungcheong เกาหลีใต้ มีการใช้ระบบการควบคุมแสงสีชมพูและเสียงเพลงคลาสสิของ Beethoven และ Schubert เพื่อเป็นแรงกระตุ้นในการเติบโตอย่างสมบูรณ์และงดงามของผักและผลสตรอว์เบอรี่อีกด้วย

ที่น่าตื่นเต้น vertical farming ไม่เพียงการปลูกในเรือนกระจกและอุโมงค์แต่ได้เริ่มปลูกลงใต้ดินลึกลงไปกว่า 33 เมตรในมหานครลอนดอน และกำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะปลูกใต้มหาสมุทร

ตามโครงการ Nemo’s Garden ของอิตาลีที่ใช้โดมที่ผลิตจากวัสดุอะคริลิกหย่อนลงไปในทะเลลึก 30 เมตรสำหรับปลูกผักและต้องแปลงน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดเพื่อนำมาใช้ในการเพาะปลูก

สำหรับเมืองไทยเราเริ่มเห็นแนวโน้มการทำ smart farm หรือการเพาะปลูกในโรงเรือนมาสักระยะหนึ่ง แต่ยังไม่แพร่หลายจึงท้าทายเกษตรกรไทยที่ยังเป็นผู้ตามด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และการนำมาประยุกต์ใช้จริงในปัจจุบัน

ด้วยมนุษย์ที่อยู่บนโลกแบบ 2 ขั้ว ขั้วหนึ่งตั้งหน้าตั้งตาทำลายสิ่งแวดล้อม อีกขั้วหนึ่งขวนขวายวิธีการทำเกษตรกรรมรูปแบบใหม่ vertical farming ที่อาจตอบโจทย์อนาคต แม้ต้องแลกกับเงินทุนมหาศาล แต่จะสำเร็จเพียงใดคงยากที่จะพยากรณ์

ดังนั้น คำถามสำคัญที่คอยคำตอบคือ “ในภาวะปัจจุบันเราจะอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างไรมิให้ ‘โลกรวน’ ไปมากกว่านี้” เวทีคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการสำนึกรักบ้านเกิด เพื่อพัฒนาผู้นำชุมชนด้วยปณิธานหวังปลุกจิตสำนึกการพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนแก่เยาวชนให้นำบทเรียนต้นแบบไปประยุกต์และปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ปรับตัวกับกระแสการเปลี่ยนแปลง พึ่งพาตนเองได้ พร้อมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน

โดยล่าสุดโครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดถูกจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 13 โดยมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และดีแทค (dtac)

“บุญชัย เบญจรงคกุล” ประธานกรรมการมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ผู้ริเริ่มโครงการกล่าวว่า ตลอด 12 ปีผ่านมาโครงการเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด เริ่มต้นด้วยการค้นหาปราชญ์ทางเกษตรว่าด้วยทฤษฎีใหม่ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ต่อด้วยโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อาทิ ต้นแบบกลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์การเกษตร เกษตรกรเจ้าของแผนธุรกิจสินค้าเกษตรออนไลน์ ไปจนถึงการส่งออกไปยังต่างประเทศโดยเกษตรกรเอง

“โดยโครงการปีที่ 13 มุ่งเน้นให้เกษตรกรไทยรู้จักการทำการเกษตรแบบวิถีอินทรีย์ ใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นแกนหลัก พร้อมผสมผสานนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ มาประยุกต์และปรับใช้ไปกับกระบวนการผลิต

จนนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดรับไปกับนโยบายของภาครัฐที่ว่าในเรื่องของเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy : BCG) พร้อมนำไปสู่กาส่งออกผ่านช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกภาคมิติ”

สำหรับเกษตรกรที่ได้รับรางวัลในปี 2564 ประกอบด้วยรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ “นราธิป ภูมิถาวร” เกษตรกรจากฟาร์มปูนาชญาดา จ.สุโขทัย เกษตรกรผู้สร้างธุรกิจจากความชอบ เกิดเป็นธุรกิจปูนาอินทรีย์สร้างชีวิต, รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ “จิรภัทร คาดีวี” เกษตรกรจากแสนบุญฟาร์ม จ.กาฬสินธุ์ วิศวกรหนุ่มผู้ผันตัวมาเป็นเกษตรกร สร้างผลผลิตทางการเกษตร ส่งออกผักสลัด น้ำพริกกุ้งสมุนไพร และกุ้งก้ามกราม

รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ “ธนวัฒน์ มโนวชิรสรรค์” เกษตรกรจากสวนบ้านแม่ จ.พังงา เกษตรกรผู้สานต่อความฝันของแม่ นำภูมิปัญญาเก่าผสมผสานกับเทคโนโลยีใหม่ เกิดเป็นธุรกิจส่งออกมังคุดออร์แกนิก

ส่วนเกษตรกรดีเด่น 7 รางวัลประกอบด้วย 1.นภัสวรรณ เมณะสินธุ์ เกษตรกรจากสวนเบญจมาศนภัสวรรณ จ.อุบลราชธานี 2.อิสมาแอล ลาเต๊ะ เกษตรกรจากสวนนูริสฟาร์ม จ.ยะลา 3.ภิญญา ศรีสาหร่าย เกษตรกรจากฟาร์มฝันแม่ เกษตรอินทรีย์ จ.ราชบุรี

4.ภัทรฤทัย พรมนิล เกษตรกรจากนพรัตน์ฟาร์ม จ.นครพนม 5.พิริยากร ลีประเสริฐพันธ์ เกษตรกรจาก GardenThree จ.หนองคาย 6.รัฐรินทร์ สว่างสาลีรัฐ เกษตรกรจากไร่ดีต่อใจ จ.สระแก้ว และ 7.มโนธรรม ชูแสง เกษตรกรจากบ้านไร่ ชายน้ำ ฟาร์มนก จ.สุราษฎร์ธานี

“ประเทศ ตันกุรานันท์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า แนวคิดหลักของการคัดเลือกเกษตรกรปีนี้มีความสำคัญและยึดโยงกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่ท้าทาย อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

“ดีแทคในฐานะผู้ให้บริการการสื่อสารอันถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางเศรษฐกิจดิจิทัล จึงวางนโยบาย Digital Inclusion เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางดิจิทัลผ่านการขยายโครงข่ายบนคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ภายใต้แนวคิดดีทั่วดีถึง เพื่อชีวิตที่เท่าเทียม ซึ่งประกอบด้วย 3 ภารกิจ

ได้แก่ 1.สัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อทุกคน (good for all connectivity) 2.การเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม (affordable and accessible services) และ 3.การเพิ่มทักษะดิจิทัล (digital upskilling) ทั้งนี้ ดีแทคจะยังเดินหน้าส่งเสริมให้ประเทศไทยดีทั่วดีถึง เพื่อชีวิตเท่าเทียม”

“ผู้ที่ได้รับรางวัลถือเป็นต้นแบบสำหรับเกษตรกรยุคใหม่ที่มีวิธีคิดอย่างเป็นระบบ สามารถนำบทเรียนไปประยุกต์และปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ปรับตัวเข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลง สามารถพึ่งพาตนเอง และพร้อมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนอย่างยั่งยืน”

วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน “เฉลิมชัย” หนุนเกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ตั้งเป้าเพิ่ม 15 ล้านไร่ ภายใน 5 ปี ครบรอบสถาปนา กรมพัฒนาที่ดิน 59 ปี เดินหน้าพัฒนาทรัพยากรที่ดินให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม สร้างความมั่นคงทางอาหาร ภาคการผลิตยั่งยืน

วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในงานวันสถาปนากรมพัฒนาที่ดิน ครบรอบ 59 ปี ว่า

กรมพัฒนาที่ดินมีหน้าที่ในการดูแลพี่น้องเกษตรกรทั้งในส่วนของการปรับปรุงดิน การดูแลสภาพพื้นดิน และในส่วนของแหล่งน้ำขนาดเล็ก และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเกษตรของประเทศไทยให้มีความเจริญก้าวหน้า และเป็นรากฐานของการผลิตภาคการเกษตร โดยเฉพาะการผลิตพืช ซึ่งมีบทบาทสำคัญตั้งแต่การวางแผนกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ การสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาที่ดิน ด้วยการอนุรักษ์ดินและน้ำ

การวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับการตลาด ตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” การจัดการดินและปุ๋ยให้เหมาะสมกับพืช ช่วยลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะในสถานการณ์ปุ๋ยเคมีราคาแพง พร้อมเน้นย้ำในเรื่องงานวิจัย ที่จะต้องนำมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งจะเป็นแนวทางที่จะช่วยพัฒนาภาคการเกษตรเป็นอย่างดี

อีกทั้งยังต้องพัฒนาบุคลากรให้พร้อมสำหรับการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรด้วย นอกจากนี้ ในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่เกษตรกรผ่านเครือข่ายและการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จะทำให้การทำงานของกรมพัฒนาที่ดินประสบความสำเร็จ

โดยต้องให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่พี่น้องเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรมและช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาการเกษตรของประเทศไทยให้บรรลุตามเป้าหมาย ทั้งนี้ ในระยะเวลาที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดินสามารถช่วยพี่น้องเกษตรกรในการลดต้นทุนและลดการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นจำนวนมาก และมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเพิ่มพื้นที่ในการใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยที่มาจากธรรมชาติ ประมาณ 15 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 5 ปี ในปี 2570

“จากสถานการณ์ขาดแคลนปุ๋ย จากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เห็นแล้วว่า ถึงเวลาที่เกษตรกร ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี โดยเฉพาะปุ๋ยเคมี เพื่อลดพึ่งพาการนำเข้า กรมจึงมีส่วนสำคัญในการพัฒนาและสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์มาทดแทนให้มากที่สุด และพร้อมจะขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างโอกาส สร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ประเทศมีความมั่งคงทางเศรษฐกิจ และช่วยดูแลรักษาทรัพยากรดินของประเทศให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืนต่อไป”

ด้าน นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ทิศทางการขับเคลื่อนกรมพัฒนาที่ดินจากนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความสำเร็จการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน ได้กำหนดวิสัยทัศน์ เป็นองค์กรอัจฉริยะทางดินขับเคลื่อนการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม 15 ล้านไร่ ภายในปี 2570 โดยการเพิ่มทักษะดิจิทัลนำเทคโนโลยีทันสมัย มาใช้ในการปฏิบัติงาน สอดคล้องกับภูมิสังคมและวิถีของเกษตรกร และเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายรวดเร็วด้วยการทำงาน ด้วยระบบดิจิทัล เช่น AI E-Service และ Application รวมทั้งเชื่อมโยงบูรณาการทำงานแบบห่วงโซ่คุณค่า เพื่อมุ่งสู่ Smart Agriculture ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นโยบายการขับเคลื่อนโมเดล BCG (Bio-Circular-Green Economy) เป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาล ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนมูลค่า GDP ของ BCG จาก 21% เป็น 24% ภายใน 5 ปี หรือเพิ่มจาก 3.4 ล้านล้านบาทในปี 2563 เป็น 4.4 ล้านล้านบาทในปี 2568 ล้อไปกับเทรนด์ ทั่วโลกที่มุ่งสร้างการเติบโตอย่างสมดุลทั้งเศรษฐกิจควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จัดทำโครงการส่งเสริมเกษตรกร ผู้ประกอบการไทย เร่งต่อยอดใช้ประโยชน์ FTA “ThEP for FTA MARKET” สนับสนุนผู้ผลิตสินค้า BCG ให้สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลง (FTA) ส่งออก โดยปัจจุบันไทยได้ลงนามเอฟทีเอ 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ฉบับล่าสุดก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้มีการคัดเลือกผู้ประกอบการ 20 ราย ร่วมอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดเชิงลึก ร่วมกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ เพื่อนำสินค้าขึ้นไปขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยผู้ที่มีศักยภาพสูงสุด 5 รายจะทดลองขายบนแพลตฟอร์มชั้นนำในตลาดต่างประเทศ

เร่งเจรจา FTA เปิดทาง BCG
“กลุ่ม BCG เป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ Royal Online และประเด็นนี้ยังถูกหยิบยกมาหารือในเวทีเอเปกหรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งประเทศสมาชิกหลายประเทศก็มีนโยบายส่งเสริมในเรื่องนี้ ไทยควรอาศัยโอกาสนี้ก้าวสู่โมเดลเศรษฐกิจใหม่ ช่วยต่อยอดธุรกิจ เพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการไทยสู่เวทีการแข่งขันในระดับโลก”