เป็นที่ทราบกันดีว่าเป้าหมายรัฐบาลมุ่งขยายการเติบโตของ BCG

อีก 5 ปี ซึ่งในส่วนของกรมก็พร้อมจะส่งเสริมผู้ประกอบการ เพื่อใช้ประโยชน์จาก FTA ทั้ง 14 ฉบับ และยังเตรียมแผนเจรจากับประเทศต่าง ๆ ปี 2565-2570 อาทิ สหภาพยุโรป (EU) สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) สหราชอาณาจักร (UK) และสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU)เป็นต้น

BCG อาหารอนาคต
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า เทรนด์ BCG ส่งผลให้แนวโน้มอาหารอนาคตมีการเติบโตเพิ่มมากขึ้นทั้งเชิงปริมาณและมูลค่า ซึ่งนับเป็นโอกาสการส่งออกของกลุ่มสินค้าดังกล่าว และได้มีแผนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยใช้กลยุทธ์ BCG Model ขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเป้าหมายในอนาคต

โดยจะเห็นว่าการส่งเสริมการลดการปล่อยคาร์บอนทำให้ตลาดหันมานิยมโปรตีนจากพืช (plant-based) ทำให้ยอดส่งออกปี 2562 มีมูลค่า 28,000 ล้านบาท ขณะที่อาหารที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ (functional food) ปี 2563 มีมูลค่า 9,100 ล้านบาท อาหารเฉพาะบุคคล (Personalized food) ปี 2563 มีมูลค่า 28,056 ล้านบาท และอาหารผู้สูงอายุ (food for aging) ปี 2563 มีมูลค่า 11,478 ล้านบาท

ความพร้อมเกษตรกรไทย
นายรัตนะ สวามีชัย เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติกล่าวว่า เกษตรกรไทยจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ปัจจุบันเกษตรไทยยังมีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และมีปัญหาด้านโครงสร้าง ไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน และอีก 8 ปีข้างหน้าไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมีโอกาสจะขาดแคลนแรงงาน

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรต้องปรับตัวเพราะปลูกเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจเรื่องนี้ก็จะทำให้โอกาสส่งออกสินค้ายากขึ้น เพราะประเทศผู้นำเข้าให้ความสำคัญ มีการกำหนดกติกา เงื่อนไขการนำเข้า ทั้งหมดนี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยยกระดับให้เกษตรกรแข่งขันได้

เปิดข้อมูลพืชเกษตร ตลาดนำการวิจัยเกษตรมูลค่าสูง กรมวิชาการเกษตร เผย 5 ปี สร้างมูลค่ากว่าหนึ่งล้านล้านบาท เร่งเครื่องเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน สร้างความมั่นคงทางอาหารประเทศ

วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ชื่นชมผลงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จและสิ้นสุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2559-2564) โดยผลงานกรมวิชาการเกษตร “DOA Together for BCG and Food Security กรมวิชาการเกษตรร่วมใจ มุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่เพื่อความมั่นคงทางอาหารสามารถส่งเสริมเกษตรกรรายย่อย SME รายใหญ่ และอุตสาหกรรมการเกษตร มูลค่ากว่าหนึ่งล้านล้านบาท”

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ความสำเร็จดังกล่าวมีมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์กว่า 1.2 แสนล้านบาท ไม้และผลิตภัณฑ์ 1.5 แสนล้านบาท ข้าว 1.3 แสนล้านบาท ยางพาราและผลิตภัณฑ์ 1.4 แสนล้านบาท ทุเรียนและผลไม้สด 1.7 แสนล้านบาท ผลไม้แห้ง กล้วยไม้สด ผักสด และ ผลิตภัณฑ์จากพืชอื่น ๆ กว่า 3 แสนล้านบาท

ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของกรมวิชาการเกษตรไม่น้อยกว่า 900 เทคโนโลยี อาทิ พืชพันธุ์ใหม่ รองรับตลาดเฉพาะและภาคอุตสาหกรรม 16 ชนิด (49 พันธุ์) พืชท้องถิ่นที่มีศักยภาพในอนาคต 19 ชนิด พร้อมทั้งเทคโนโลยีการผลิตพืชท้องถิ่น 41 ชนิด พืช GI 9 ชนิด เพื่อพัฒนาเชิงการค้าและความมั่นคงทางอาหาร ด้านเครื่องจักรกลการเกษตร มีเครื่องจักรกลการเกษตรใหม่กว่า 50 ต้นแบบ อาทิ เครื่องพ่นแบบใช้แรงลมช่วยสำหรับพ่นป้องกันหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เครื่องหยอดเมล็ดพืชและปุ๋ยอัตโนมัติ โรงเรือนอัจฉริยะควบคุมสภาวะอากาศอัตโนมัติ

ทั้งนี้ การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเกษตรกรรม เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 20-50% พัฒนาไปสู่ web application ระบบพยากรณ์ผลผลิตไม้ผลเศรษฐกิจ ระบบให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยปาล์มน้ำมัน ระบบประเมินการระบาดของศัตรูมันสำปะหลัง เตรียมพร้อมงานวิจัย รองรับวิกฤตภัยแล้งและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ สร้างเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่ว

โดยเฉพาะถั่วเหลืองที่มีความต้องการใช้ในประเทศสูงถึง 4.02 ล้านตัน สร้างเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ ช่วยลดการนำเข้าถั่วเหลือง ร่วมมือกับภาคเอกชนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์ของอาเซียน เชื่อมโยงการขับเคลื่อนผลการวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างชัดเจน

​การแก้ปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลัง มีการปรับปรุงพันธุ์ทนทาน การใช้ท่อนพันธุ์สะอาดเพื่อควบคุมการระบาด การป้องกันการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดมีคำแนะนำให้คลุกเมล็ด การพ่นสารเคมี และพ่นชีวภัณฑ์ มีเครื่องพ่นแบบอุโมงค์ลมสำหรับพ่นป้องกันการแพร่ระบาด ช่วยลดการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรและค่าใช้จ่ายในการป้องกันกำจัดมากกว่า 100 ล้านบาทต่อปี

​ด้านนวัตกรรมใหม่ มีการพัฒนาชุดตรวจสอบศัตรูพืชแบบแม่นยำสูง วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชสำหรับการเจรจาเปิดตลาดสินค้า จัดทำมาตรการสุขอนามัยพืชในการนำเข้าส่งออกสินค้าพืช ซึ่งส่งผลต่อตลาดเมล็ดพันธุ์และตลาดสินค้าเกษตร มูลค่ากว่าแสนล้านบาทต่อปี

การวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชเศรษฐกิจใหม่ คือ กัญชาเพื่อการวิจัยทางการแพทย์ทั้งในด้านการพัฒนาสายพันธุ์ ที่มี CBD หรือ THC สูง และกระท่อม รวมทั้งการวิจัยทางด้านเทคโนโลยีจีโนมิก เพื่อศึกษายีนที่เกี่ยวข้องกับสารสำคัญ มีตลาดยารักษาโรค สมุนไพร เครื่องสำอาง และอาหารทางเลือกรองรับ มูลค่ากว่าแสนล้านบาท จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการพืชกัญชา กัญชง และกระท่อม แบบเบ็ดเสร็จ สายด่วน 1174 ให้ผู้สนใจสอบถามข้อมูล

ด้านสถานการณ์ส่งออกสินค้าพืช เพียง 5 เดือนแรกของปี 2565 มียอดการส่งออกกว่า 15.27 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 469,178.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.57% (เทียบกับ 5 เดือนแรกของปี 2564) สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของประเทศคู่ค้าในการตรวจสอบคุณภาพการผลิตสินค้าพืชของประเทศไทย จับมือกับกลุ่มพันธมิตรทั่วโลก เปิดตัวระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ “e-Phyto” นำร่องเปิดใช้งานส่งออกพืช 22 ชนิดไปจีน พบกระแสดีเกินคาด สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้ตั้งแต่ประเทศปลายทางจนถึงเกษตรกร เป็นการอำนวยความสะดวกในการส่งออกสินค้าพืชและผลิตภัณฑ์ เปิดให้บริการครอบคลุมทุกสินค้าทุกประเทศทั่วโลก

มาตรการ GMP plus ให้โรงคัดบรรจุนำไปปฏิบัติเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ไปกับตู้สินค้า บรรจุภัณฑ์ และผลไม้ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศจีน สร้างรายได้เข้าประเทศ โดยปี 2565 มีปริมาณการส่งออกระหว่าง 1 ก.พ.-5 มิ.ย. 2565 (5 เดือนแรก) ปริมาณ 433,809.92 ตัน
ด้านการอำนวยความสะดวกให้เกษตรกร จัดตั้ง “คลินิกกรมวิชาการเกษตรเคลื่อนที่” (DOA Mobile Clinic) บริการต่ออายุ ใบอนุญาต GAP ใบรับรองแหล่งผลิตพืขอินทรีย์ ให้คำปรึกษาทางด้านการเกษตรแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เกษตรกรสมัครใหม่และต่ออายุกว่า 2,500 ราย

“ท่านมนัญญา ไทยเศรษฐ์ ได้กำชับให้เร่งเดินหน้างานวิจัยเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตพืชสู่เป้าหมายเกษตรมูลค่าสูง เน้นการพัฒนาพันธุ์พืชที่มีศักยภาพสูง การใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบเกษตรอัจฉริยะ การแปรรูปสร้างมูลค่าและแบรนด์ที่เป็นเอกลักษณ์ การขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่การผลิตพืช เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ”

กระทรวงเกษตรฯ ไทยหารือแคนาดา ผลักดันส่งออกสินค้าเกษตรมูลค่าสองหมื่นล้าน หวังขยายส่งออกปลาทูน่ากระป๋อง ข้าว ไก่ กุ้ง ยางพารา ชูจุดแข็งอาหารของไทย ความปลอดภัย ได้มาตรฐานสากล

วันที่ 17 สิงหาคม 2565 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ดร.ซาราห์ เทย์เลอร์ เอกอัครราชทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย (H.E. Dr. Sarah Taylor) (Ambassador of Canada to the Kingdom of Thailand) ร่วมหารือการส่งเสริมและขยายความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกัน โดยมี นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม

โดยการหารือในครั้งนี้ ไทยและแคนาดาพร้อมร่วมมือในเรื่อง Smart agriculture-Canadian technology ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายการขับเคลื่อนงานด้านเกษตรอัจฉริยะ โดยมุ่งหวังที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสนับสนุนกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเกษตรในปัจจุบัน ให้มุ่งสู่เกษตร 4.0 มีเป้าหมายสำคัญที่มุ่งเน้นให้เกิดการทำเกษตรแบบทำน้อยได้มาก ใช้ทรัพยากรในการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ลดการสูญเสีย และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มากขึ้น

นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ขอบคุณฝ่ายแคนาดาสำหรับความร่วมมือในโครงการ Offshore Program ซึ่งเป็นโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการด้านความปลอดภัยอาหาร ระหว่างองค์การตรวจสอบอาหารของแคนาดา (Canadian Food Inspection Agency : CFIA) และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เพื่อให้ประเทศคู่ค้าสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยอาหารของแคนาดาได้อย่างถูกต้อง และป้องกันอาหารที่ไม่ปลอดภัยเข้าสู่ตลาด โดยเน้นด้านการตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยอาหาร การตรวจสอบสถานประกอบการ และกิจกรรมความช่วยเหลือด้านเทคนิค

โดยที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน มกอช. และ CFIA ได้จัดการแลกเปลี่ยนด้านวิชาการด้านความปลอดภัยอาหาร จำนวน 4 ครั้ง และอยู่ระหว่างการประสานงานเพื่อหารือถึงการขยายความร่วมมือระหว่างกันในการจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอาหารตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งรวมถึงการผลักดันการปฏิบัติตามกฎระเบียบ การเฝ้าระวังและตรวจติดตาม และการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ฝากแคนาดาให้สนับสนุนการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 7 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเป็นเจ้าภาพในวันที่ 26 สิงหาคม 2565 นี้

ทั้งนี้ แคนาดาเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 32 ของไทย และเป็นคู่ค้าสินค้าเกษตรอันดับที่ 21 มีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตร ไทย-แคนาดา ปี 2564 รวม 23,938 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 30.28 ของมูลค่าการค้าระหว่างไทยและแคนาดา) โดยไทยส่งออกมูลค่า 19,519 ล้านบาท และไทยนำเข้า 4,419 ล้านบาท สินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกไปแคนาดาที่สำคัญ ได้แก่

1) ปลาทูน่ากระป๋อง 2) ข้าว 3) ยางธรรมชาติ (ทีเอสเอ็นอาร์) 4) เต้าหู้ 5) ไก่ และ 6) กุ้งกุลาดำ ตามลำดับ และสินค้าเกษตรที่ไทยนำเข้าจากแคนาดา ได้แก่ 1) ข้าวสาลีและเมสลิน 2) ถั่วแหลือง 3) ซุปที่มีเนื้อสัตว์ 4) ถั่วลั่นเตา 5) กากน้ำมัน (ออยล์เค้ก) และ 6) มันฝรั่ง

“แคนาดาเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย โดยสินค้าเกษตรไทยที่มีศักยภาพ และเป็นที่ต้องการในแคนาดา เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง ข้าว ไก่ กุ้ง และยางพารา จึงมั่นใจว่าผู้บริโภคชาวแคนาดาจะได้บริโภคสินค้าเกษตรและอาหารของไทยที่มีความปลอดภัยและได้มาตรฐานสากล โดยกระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญกับการผลิตตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง

ซึ่งความมั่นคงทางอาหารถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของผลิตภัณฑ์ทางอาหาร จึงได้กำหนดนโยบาย 3S (ความปลอดภัยทางอาหาร (Safety) ความมั่นคง (Security) และความยั่งยืนของทรัพยากรและนิเวศทางการเกษตร (Sustainability))

ซึ่งจะเป็นหลักประกันในการรับรองคุณภาพอีกทางหนึ่ง จึงได้ฝากให้ท่านเอกอัครราชทูต ช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหารของไทย รวมถึงแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาลไทยให้แก่ชาวแคนาดามั่นใจต่อสินค้าเกษตรของไทยต่อไปด้วย” นายเฉลิมชัยกล่าว

ไทยชูจุดแข็ง ความมั่นคงทางอาหาร ถกนานาชาติหารือแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานของเอเปค HLPDAB เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร 2565 สอดคล้องการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy)

วันที่ 20 สิงหาคม 2565 รายงานข่าวระบุ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวต้อนรับเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เอเปค (APEC High-Level Policy Dialogue on Agricultural Biotechnology : HLPDAB) ที่จัดขึ้น ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพมหานคร

เพื่อเร่งผลักดันตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ขับเคลื่อนเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูงร่วมกับเทคโนโลยีการเกษตรและการผลิตพืช ติดตามความคืบหน้าและแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรของเขตเศรษฐกิจเอเปค รวมถึงนโยบายด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ผลสำเร็จการเสริมสร้างองค์ความรู้ของโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ ในปี 2565 รับรองแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ HLPDAB

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ เปิดเผยว่า การที่ไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคในปี 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ หุ้นส่วนเชิงนโยบายความมั่นคงอาหาร (PPFS) ความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตร (ATCWG)

โดยกรมวิชาการเกษตรเป็นเจ้าภาพจัดประชุม HLPDAB ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของประเทศไทย เรื่องการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ตลอดจนนำนโยบาย 3S ความปลอดภัย (Safety) มั่นคง (Security) และความยั่งยืน (Sustainability) มาปฏิรูปการเกษตรและระบบอาหาร ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตร

ทั้งนี้ การประชุมได้มีการรายงานสถานะล่าสุดเกี่ยวกับประเด็นด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร นโยบายของแต่ละเขตเศรษฐกิจ รายงานความคืบหน้าการประชุมเชิงปฏิบัติการ HLPDAB ปี 2565 แลกเปลี่ยนมุมมองแนวโน้มและความท้าทายเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เพื่อความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

การนำเสนอความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (Genome Editing Technology) มุมมองด้านกฎระเบียบของพันธุวิศวกรรมและการปรับแต่งจีโนม หารือแผนยุทธศาสตร์และแผนดำเนินงาน HLPDAB ให้สมาชิกเศรษฐกิจ HLPDAB เสนอแนะและอนุมัติแผนยุทธศาสตร์ HLPDAB ปี 2565-2567 สถานะล่าสุดเกี่ยวกับการดำเนินโครงการภายใต้กรอบเอเปค สนับสนุนการผลิต ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเทคโนโลยี ต้นทุนการผลิตทางการเกษตร การเพิ่มความยั่งยืนด้าน Food Security ทั้งอาหารคนและอาหารสัตว์ พร้อมมุ่งมั่น สู่เป้าหมาย Sustainable Development Goal 2030 โดยจะมุ่งเน้นประเด็นหลักใน 5 เรื่อง คือ

ความปลอดภัยด้านอาหารและความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเพียงพอ
การบูรณาการระบบอาหารที่ยั่งยืนโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบเป็นมิตรกับธรรมชาติมากที่สุด
การนำนโยบาย 3S ความปลอดภัย (Safety) ความมั่นคง (Security) และความยั่งยืน (Sustainability) ในการปรับใช้ด้านการเกษตร
การปรับตัวสู่ระบบอาหารและการเกษตรที่ยั่งยืน

การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นหลักการพื้นฐานสำหรับพัฒนาประเทศไทย
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรพร้อมเชื่อมต่อนโยบายรัฐบาล ให้ความสำคัญด้านเทคโนโลยีชีวภาพและการเกษตรขั้นสูง งานวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจและสมุนไพร อาทิ การใช้เทคโนโลยีปรับปรุงพันธุ์พืชสกุลกัญชา กัญชง และกระท่อมให้มีสารสำคัญสูง การพัฒนายกระดับคุณภาพเมล็ดพันธุ์พืช

อาทิ ข้าวโพด ถั่วเหลือง อ้อย ทุเรียน มันสำปะหลัง เห็ด ให้เป็นศูนย์เมล็ดพันธุ์ของเขตเศรษฐกิจเอเปค ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้มีราคายุติธรรมและเหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อย รวมถึงการใช้จุลินทรีย์ทางการเกษตรในภาคอุตสาหกรรมสีเขียว การแปรรูปสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูงและลดการสูญเสีย อีกทั้งให้ความสำคัญเกี่ยวกับความสำเร็จของ SDGs ที่สอดคล้องกับ BCG Economy Models รวมถึงการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่อย่างปลอดภัย มีความรับผิดชอบ เพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิตทางการเกษตร ตลอดจนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนสู่เป้าหมายความมั่นคงด้านอาหารในปี 2573

“ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรมีนโยบาย DOA together ที่ให้ความสำคัญกับความสมดุล (Balance) การปรับปรุง (Improve) การยกระดับ (Upgrade) ความทันสมัย (Modernization) และความร่วมมือ (Cooperation) ที่ขับเคลื่อนตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย BCG Economy Models อาทิ การวิจัยระบบการเกษตรไร้ก๊าซเรือนกระจก

ซึ่งกรมวิชาการเกษตรพร้อมจะทำงานร่วมกับองค์การจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อยกระดับ กรมวิชาการเกษตรให้เป็นผู้มีอำนาจรับรองระบบการทำการเกษตรไร้ก๊าซเรือนกระจก และการส่งเสริมด้านการนำขยะทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เช่น การพัฒนา Bioplastic หรือพลาสติกที่ย่อยสลายได้ การพัฒนาพืชพันธุ์ใหม่เพื่อเพิ่มผลผลิต ปรับปรุงคุณภาพ ความทนทานโรค และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในพืชชนิดต่างๆ โดยใช้องค์ความรู้ด้านปรับปรุงพันธุ์ พันธุศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ อาทิ เทคโนโลยีด้านเครื่องหมายโมเลกุล เทคโนโลยีการแก้ไขจีโนม การพัฒนาใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อลดต้นทุน เช่น ชุดทดสอบแบบง่ายต่างๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งออก

รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ RNAi กำจัดศัตรูพืชและเอ็นไซม์จุลินทรีย์ที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่สำหรับใช้ในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม เราเชื่อมั่นในความพร้อมของกรมวิชาการเกษตรที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนจากประสบการณ์และองค์ความรู้กว่า 50 ปี”

เกษตรฯ เปิดฉากยิ่งใหญ่ เจ้าภาพเอเปค 2022 เปิดแลนด์มาร์ก หัวหินไทยแลนด์ ประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 7 หนุนสนับสนุนโยบายครัวไทย สู่ครัวโลก ความปลอดภัยอาหาร การค้าระหว่างประเทศ การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

วันที่ 26 สิงหาคม 2565 รายงานข่าวระบุกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดฉากเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 7 (The Seventh APEC Virtual Food Security Ministerial Meeting)ร่วมกับสมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ ณ โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผลักดันประเด็นหลักที่จะช่วยสนับสนุนโยบายครัวไทย สู่ครัวโลก ความปลอดภัยอาหาร การค้าระหว่างประเทศ การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนร่วมกัน

ยืนยัน ไทยพร้อมจับมือร่วมเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค เผชิญกับความท้าทายต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการของแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหาร มุ่งสู่ ค.ศ. 2030 ร่วมกันอย่างเข้มแข็งโดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 7 ได้กล่าวต้อนรับคณะรัฐมนตรี และสมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ พร้อมกล่าวเปิดการประชุมในครั้งนี้ว่า

ประเทศไทย มุ่งหวังที่จะสนับสนุนให้เอเปค มีการเจริญเติบโตในระยะยาว มีภูมิคุ้มกัน มีความครอบคลุม ความสมดุล และความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ.2040 แผนปฏิบัติการเอาเทอรัว รวมถึงหัวข้อหลักของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย คือ “OPEN, CONNECT, BALANCE” หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” และแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว Bio – Circular – Green Economy หรือ BCG Model

การประชุมระดับรัฐมนตรีความมั่นคงอาหาร นับเป็นกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคที่เข้มแข็ง และสามารถ มีส่วนร่วมสนับสนุนความมั่นคงอาหารให้กับประชาคมโลก ในฐานะผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก ซึ่งจากสถานการณ์ความมั่นคงอาหารในปัจจุบัน องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ รายงานว่า

ในปี ค.ศ.2030 ประชาชนประมาณ 670 ล้านคน จะยังคงขาดสารอาหาร นอกจากนี้ ผลกระทบและความตึงเครียดที่เกิดขึ้นต่อระบบอาหารทั่วโลก เช่น วิกฤตด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ทำให้เอเปค ต้องปรับบทบาทและแนวทางที่จะเดินไปข้างหน้าร่วมกัน

การประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมได้ออกแถลงการณ์แสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความมั่นคงอาหารในภูมิภาค โดยในแถลงการณ์ได้ผลักดันนโยบายสำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วย

1) การสนับสนุนความปลอดภัยอาหารและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 2) การปรับปรุงการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี 3) การส่งเสริมความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ 4) การส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีในภาคเกษตรอาหาร และ 5) การสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ภาคเอกชน นับได้ว่ามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการร่วมเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร โดยประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค ประจำปี 2565 ได้ให้คำแนะนำที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหาร มุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 ได้แก่ การสนับสนุนการอำนวยความสะดวกทางการค้า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัล การประสานงานกับองค์กรระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร การส่งเสริมการลดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีสำหรับการเกษตรและการค้าอาหาร และการนำโมเดล BCG มาปรับใช้

ทั้งนี้ เชื่อมั่นได้ว่า ร่างปฏิญญาความมั่นคงอาหารเอเปค จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นของคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารของไทย รวมถึงการสนับสนุนระบบการค้าแบบพหุภาคี จะทำให้เกิดการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น

พร้อมกันนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย ยังผลักดันการดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหารเอเปค ผ่านการขับเคลื่อนนโยบาย 3S ทั้งเรื่อง Safety Security และ Sustainability ส่งเสริมความปลอดภัยอาหารให้ได้มาตรฐานสากล ถูกหลักโภชนาการ

รวมถึงส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมที่เชื่อมโยงการพัฒนาฐานข้อมูลด้วยระบบ Big Data ด้านดิน น้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรคระบาดของพืชและสัตว์ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ขับเคลื่อนภาคเกษตร ด้วย BCG Model และที่สำคัญ ในปี 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้วางนโยบายเสริมสร้างบทบาทสตรี ให้เป็นกำลังหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

โดยใช้แผนขับเคลื่อนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง ให้เป็น Smart group เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก

นอกจากนี้ ยังเน้นการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านการเกษตรให้มีความทันสมัย สามารถวิเคราะห์และวางแผนการผลิต รวมถึงการเข้าถึงตลาด ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ส่งเสริมและพัฒนากระบวนการผลิตและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้ตรงกับความต้องการของตลาด ตลอดจนส่งเสริมความมั่นคงอาหารในครัวเรือนและชุมชน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังให้ความสำคัญด้านการพัฒนากำลังคนภาคเกษตร และการทำงานด้วยเช่นกัน รวมถึงสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมเกษตร และยกระดับความร่วมมือเครือข่ายการพัฒนาภาคการเกษตรจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะด้านนโยบายความยั่งยืนในระบบอาหารสัมพันธ์กับปัจจัยการผลิต ทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศ

ซึ่งหัวใจสำคัญในการผลักดันความยั่งยืน คือ การบริหารจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการสูญเสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน และลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการดิน การบริหารจัดการพันธุ์พืช ตลอดจนการทำเกษตรโดยใช้ตลาดนำการผลิต

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานหุ้นส่วนเชิงนโยบายด้านความมั่นคงอาหาร ประจำปี 2022 เปิดเผยว่า

ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และกรมประมง ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบเอเปค มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565

ซึ่งถือเป็นการเปิดฉากการประชุมเอเปคพร้อมกันทั้งประเทศ ในฐานะที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค และได้มีการจัดการประชุมที่เกี่ยวข้องอีก 12 การประชุมเรื่อยมา แน่นอนว่า การประชุมรัฐมนตรีของเขตเศรษฐกิจร่วมกันครั้งนี้ เป็นการแสดงวิสัยทัศน์และแนวนโยบายในการผลักดันความมั่นคงทางอาหาร

ซึ่ง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มุ่งเน้นนโยบาย BCG และ 3S รวมถึงนโยบายต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า สินค้าเกษตรและอาหารไทย ที่มีผลผลิตที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพมาตรฐาน พร้อมเป็นครัวให้กับประชากรในภูมิภาคเอเปคและครัวโลก

สำหรับความมั่นคงอาหารในประเทศไทย มีการวางแผนเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงอาหารทั้งระบบ โดยผ่านกลไกคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สศก. ได้จัดทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัด (Provincial Crop Calendar)

ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกันทั้งระบบ (BIG DATA) เพื่อคาดการณ์ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรแบบรายชนิดสินค้า ที่จะออกสู่ตลาดเป็นรายเดือนตลอดปีเพาะปลูกล่วงหน้า ในแต่ละจังหวัด อำเภอ และตำบล ซึ่งจะทำให้ทราบปริมาณสารอาหารที่มีอยู่ในแต่ละจังหวัด ทำให้สามารถบริหารจัดการความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการได้ทั้งระบบทั้งในภาวะปกติ และภาวะวิกฤต

โดยปัจจุบัน มีการรวบรวมสินค้าพืช 50 ชนิด ปศุสัตว์ 10 ชนิด และประมง 10 ชนิด แสดงทั้งปริมาณผลผลิต ผลผลิตต่อไร่ ระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด ข้อมูลความพอเพียงของหมู่โภชนาการต่อประชากรในจังหวัด สัดส่วนของเกษตรกรในแต่ละชนิดสินค้า ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาดในแต่ละเดือน และสัดส่วนการกระจายผลผลิตภายในและภายนอกจังหวัดเป็นรายสินค้าและรายจังหวัด ซึ่งเป็นการบริหารจัดการและสร้างความเชื่อมั่นความมั่นคงอาหารในประเทศ

ทั้งนี้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก Holiday Palace เป็นการรวมตัวระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในภูมิภาค ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2532 ณ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ปัจจุบัน เอเปคมีสมาชิกรวม 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย จีนไทเป ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม