ประธานหอการค้านครศรีฯ ผันเกษตรสู่บริการแหล่งเที่ยวใหม่มาแรง

เมื่อวงจรของภาคเกษตรยังวนเวียนอยู่กับราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ หลายคนบอกว่าถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนจากสิ่งเดิม ๆ แต่ทำอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” พูดคุยกับ “กรกฎ เตติรานนท์” ประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช หนึ่งในภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมหาทางแก้ไขกับเกษตรกร ซึ่งได้ยอมรับว่าเศรษฐกิจของนครศรีธรรมราช คือ ภาคเกษตร แต่กลับยังไม่เห็นโอกาสสดใสในเร็ววันนี้

กรกฎบอกว่า หอการค้านครศรีฯ มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3 ระดับ คือ ระยะสั้น กลาง และยาว โดยระยะสั้น คือ การเติมเงินให้กับประชาชน ด้วยการขับเคลื่อนโครงการเกษตร 4.0 ร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผ่านโหมดประชารัฐ เริ่มต้นที่ส้มโอทับทิมสยาม ซึ่งเป็นผลไม้เศรษฐกิจมูลค่าสูง

โดยหอการค้าตั้งใจไปให้สุดทางใน 3 เรื่อง คือ 1.ฟาร์มอัจฉริยะ 2.สมาร์ทฟาร์มเมอร์ และ 3.สร้างมาตรฐานการผลิตส้มโอทับทิมสยาม คือ จะมีไกด์บุ๊กให้กับเกษตรกรทุกคน โดยความร่วมมือตรงนี้ เราเริ่มที่ส้มโอทับทิมสยาม และจะขยับไปที่ทุเรียน และมังคุด ในลำดับต่อไป

“ผมแจ้งอาจารย์มหาวิทยาลัยว่าโจทย์ของส้มโอทับทิมสยาม คือ ใหญ่ แดง และหวาน ดังนั้นความรู้ที่จะถ่ายทอดให้เกษตรกรต้องเป็นอะไรที่จับต้องได้ ไม่ใช่เป็นงานวิจัย หรือตำราแบบที่เกษตรกรไม่สามารถเข้าใจ แต่ต้องการการปฏิบัติสู่ผลลัพธ์นั้น และขับเคลื่อนได้ทันที เช่น ส้มโอทับทิมสยาม คือ สินค้าที่ได้ไอจี ถูกระบุไว้ชัดแล้ว ที่ปากพนัง ฉะนั้นเมื่อรู้อยู่แล้วว่าสภาพดินปากพนังเป็นอย่างไร อาจารย์ก็เพียงบอกว่าวิธีการใส่ปุ๋ย การให้น้ำ การดูแลรักษา โรค และแมลง เราจะปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้ได้ผลผลิตออกมาตามคุณภาพที่เราต้องการ”

รื้อระบบดูแลปาล์ม

ภาคเกษตรในปี 2561 เรามีคาดหวังให้ดีขึ้น แต่ในเรื่องความเป็นจริงต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่าสินค้าการเกษตรของเรายังราคาไม่ขยับ เราพยายามจะลดต้นทุนให้เกษตรกรที่มีอยู่ถึง 65% สิ่งที่หอการค้ากำลังเข้าไปทำปัจจุบัน คือ เรื่องปาล์มน้ำมัน โดยจะเข้าไปดูแลเรื่องปัจจัยการผลิตทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย หรือยีลด์ เพราะหลักๆ ปุ๋ยจะเป็นต้นทุนการผลิตประมาณ 15-20% ของการผลิตทั้งหมด ขณะที่ยีลด์มีผลต่อราคา

“ปัจจุบันจากองค์ความรู้ที่อาจารย์ให้เรามา คือ ปุ๋ย มีวัฏจักรของมัน แล้วตัวมันสูญเสียไปในสภาพแวดล้อม ฉะนั้นถ้าใส่ปุ๋ยทุก 6 เดือน ทุก 3 เดือน ไนโตรเจนจะถูกแอปพลายแค่ครั้งเดียวแล้วหายไป เมื่อเรารู้โครงสร้างแบบนี้เราต้องปรับว่าทุกอาทิตย์ควรเติมปุ๋ยไนโตรเจน แต่ในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งเราจะเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรให้ใส่ปุ๋ยถี่ขึ้น และปริมาณน้อยลง เพราะทุกวันนี้เราเล็งเห็นว่าการใช้ปุ๋ยของเกษตรกรปัจจุบันใช้ปุ๋ยผิดวิธี คือ ใช้เกิน และทำให้ดินเสีย ดังนั้นถ้าเราสามารถลดปริมาณปัจจัยการผลิตลงได้ จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ขณะเดียวกันยีลด์จะสูงขึ้น”

โครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 จะเป็นลักษณะรณรงค์ก่อน และขับเคลื่อนทั้งระบบ คาดว่าเกษตรจังหวัดและเกษตรและสหกรณ์ก็จะขับเคลื่อนพร้อมกับเรา

พลิกเกษตรสู่บริการ-ท่องเที่ยว

สำหรับระยะกลาง เราจะขอเปลี่ยนจากโหมดการเกษตร เป็นภาคบริการและการท่องเที่ยว เพื่อเป็นการแชร์ความเสี่ยงของนครศรีธรรมราช และมองว่าโอกาสในการเปลี่ยนนี้ จะทำให้นครศรีธรรมราชเพิ่มศักยภาพ และเติมเงินให้กับตัวชุมชนได้ โดยในส่วนที่หอการค้าทำ คือ โหมดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เข้าไปคุยกับทางชุมชนว่าจะขับเคลื่อนโดยภาคการเกษตรอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ปัจจุบันภาคการเกษตรเป็นฐาน เราไม่ทิ้งภาคการเกษตร และการเปลี่ยนสู่ภาคบริการและท่องเที่ยว ชุมชนต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนตัวเอง ราว 6 เดือน ถึง 1 ปี

ระยะยาว คือ อุตสาหกรรมการแปรรูป โดยเรากำลังส่งเสริมให้เกิดวิสาหกิจ และนิคมอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้ พืชผลทางการเกษตร เป็นกรีน อินดัสเตรียล ในพื้นที่ของนครศรีธรรมราช ไม่เพียงเท่านี้ เราจะต่อยอดสิ่งที่เราทำทั้งแวลู เชน คือ ในเมื่อเราส่งเสริมการเกษตรในเรื่องผลไม้แล้ว สิ่งเหล่านี้จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในอนาคตด้วย

ขนอม สิชล แหล่งเที่ยวฮิตใหม่

กรกฎบอกว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2561 มองว่าภาคการใช้จ่ายยังไม่สูงขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก แต่การท่องเที่ยวสามารถช่วยได้ เพราะเราเห็นตัวเลขของภาคการท่องเที่ยวฝั่งทะเลทั้งขนอม และสิชล เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเราต้องตอบโจทย์ที่จะขับเคลื่อน และโปรโมตแหล่งท่องเที่ยวจุดนี้ให้ดึงเงินเข้าจังหวัด ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวบนฝั่งที่ยังเงียบอยู่ อย่างน้ำตกกรุงชิง เราต้องโปรโมต เพราะตรงนี้เป็นธรรมชาติค่อนข้างสมบูรณ์ สามารถจะเพิ่มมูลค่า และเอามูลค่าคืนจากกิจกรรมต่าง ๆ ได้

ส่วนโครงการ “หลาดหน้าพระธาตุ” ที่ประสบความสำเร็จติดลมบนไปแล้วนั้น ประธานหอการค้านครศรีฯ บอกว่า เป็นการนำต้นทุนที่มีอยู่ในนครศรีธรรมราชมาขาย เป็นการทำให้เกิดบิ๊กแบง หรืออิมแพ็กต์แรง ๆ โดยเลือกโลเกชั่นเป็นหลัก ซึ่งนครศรีธรรมราชเราโชคดีมีพระบรมธาตุเป็นโลเกชั่นหลัก และเป็นศูนย์รวมใจ

“เริ่มจากหลังน้ำท่วมปี 2559 เราจะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า กระตุ้นให้คนกลับมามีรายได้ ตอนนั้นโจทย์ คือ local economic และ culture experience จะทำให้เกิด culture economic ได้อย่างไร จึงเลือกพระธาตุ มีคุณค่าตั้งแต่อดีต ไม่ได้เสื่อมคุณค่าลง เพียงแต่เราเอาคุณค่าเดิมมาเสริมด้วยบริบทของวัฒนธรรม บวกกับโครงการที่เราทำเป็นแนวคิดของไทยเท่ ทั่วไทย ทำให้โครงการประสบความสำเร็จ”

บทบาทของหอการค้าวันนี้จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าภาคเอกชนยังเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ให้เกิดความเจริญเติบโตในท้องถิ่นตนเอง

กรมวิชาการเกษตรหนุนชาวไร่เมืองดอกบัวขยายพื้นที่ปลูก “มันสำปะหลังอินทรีย์” ดึงโรงงานแป้งมันร่วมแจมรองรับผลผลิต ชี้ความต้องการหัวมันอินทรีย์สดปีละกว่า 80,000 ตัน มุ่งเพิ่มมูลค่าให้เกษตรกร พร้อมขยายช่องทางทำเงินเพิ่มรายได้

​นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่กรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 (สวพ.4) จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และโรงงานแป้งมันอุบลเกษตรพลังงาน ในเครือกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์นำร่องในพื้นที่ 3 อำเภอ ของจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ อำเภอนาเยีย พิบูลมังสาหาร และวารินชำราบ โดยมุ่งผลักดันให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปรับเปลี่ยนการผลิตเข้าสู่ระบบอินทรีย์ เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ หรือออร์แกนิก (Organics) ป้อนเข้าสู่โรงงานแป้งมันที่มีความต้องการหัวมันอินทรีย์สด ปีละกว่า 80,000 ตัน ซึ่งสามารถแปรรูปเป็นแป้งมันได้ ประมาณ 20,000 ตัน

ขณะนี้แปลงเกษตรกรต้นแบบผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ จำนวน 9 ราย พื้นที่กว่า 36 ไร่ เริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตหัวมันสดป้อนเข้าสู่โรงงานแป้งมันแล้ว ภายหลังเกษตรกรได้นำเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตรไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการใช้ปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศ 1 ตัน/ไร่ หรือใส่ตามค่าวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน การแช่ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังด้วยด้วยปุ๋ยชีวภาพ PGPR3 การปลูกและไถกลบปอเทืองระหว่างร่องมันเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด การใช้ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช และการใช้เครื่องกำจัดวัชพืชแบบรถไถเดินตาม สามารถช่วยให้เกษตรกรต้นแบบได้ผลผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์เฉลี่ยต่อไร่เพิ่มสูงขึ้นจาก 4.5 ตัน/ไร่ เป็น 5.4 ตัน/ไร่ บางรายได้ผลผลิตสูงถึง 7.63 ตัน/ไร่ และยังมีเปอร์เซ็นต์แป้งสูงด้วย

​”ปี 2561 นี้ คาดว่า เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีจะปรับเปลี่ยนการผลิตเข้าสู่ระบบมันสำปะหลังอินทรีย์เพิ่มอีกอย่างน้อย 100 แปลง พื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้มีแผนเร่งสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์เพิ่มขึ้น พร้อมจัดกลุ่มเกษตรกรเข้าสู่ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อเกษตรกรจะได้รวมกลุ่มกันเข้าถึงแหล่งเงินทุน มีอำนาจต่อรองในการจัดซื้อปัจจัยการผลิต และเพื่อประโยชน์ด้านการตลาด จะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตของกลุ่มได้ ที่สำคัญการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ยังช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้กับชาวไร่ และช่วยลดการผันผวนด้านราคาเนื่องจากได้ราคาที่แน่นอน ตลอดจนช่วยลดพื้นที่การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชอย่างยั่งยืนด้วย นอกจากนี้ยังได้หารือร่วมกับนายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติเพื่อสนับสนุนเงินทุนในการผลักดันการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ด้วย” นายสุวิทย์กล่าว

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวอีกว่า มันสำปะหลังสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้ทั้งอาหารและพลังงาน เป็นสินค้าที่ตลาดทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการสูง โดยเฉพาะแป้งมันออร์แกนิกสามารถผลิตเป็นอาหารสำหรับทารกและผู้สูงอายุ รวมถึงแคปซูลยา ซึ่งเป็นที่นิยมในแถบสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีความต้องการแป้งมันออร์แกนิกสูงถึง 20,000 ตัน/ปี ซึ่งจะต้องมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ ประมาณ 22,850 ไร่ จึงจะสามารถผลิตวัตถุดิบป้อนเข้าโรงงานแป้งมันได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ การขยายพื้นที่การผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ในประเทศไทยเพื่อป้อนตลาดแป้งมันออร์แกนิก จึงเป็นโอกาสของเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังที่จะเพิ่มช่องทางสร้างรายได้เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งเป็นแหล่งผลิตมันสำปะหลังแหล่งใหญ่ที่มีศักยภาพ มีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 445,649 ไร่ ส่วนหนึ่งสามารถที่จะปรับเปลี่ยนมาผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ได้

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุม Web Conference ชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2561 มีมติเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอให้การขับเคลื่อนยุทธ์ศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีกรอบหลักในการดำเนินการเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน 10 เรื่อง ประกอบด้วย 1) สัญญาประชาคมผูกใจไทยเป็นหนึ่ง 2) คนไทยไม่ทิ้งกัน 3) ชุมชนอยู่ดีมีสุข 4) วิธีไทยวิถีพอเพียง 5) รู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้กฎหมาย 6) รู้กลไกการบริหารราชการ 7) รู้รักประชาธิปไตยไทยนิยม 8) รู้เท่าเทียมเทคโนโลยี 9) ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด และ 10) งานตามภารกิจของทุกหน่วยงาน (Function) โดยมีเป้าหมายการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ดำเนินการครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ 76 จังหวัด 878 อำเภอ และพื้นที่กรุงเทพมหานคร 50 เขต ทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโรงการไทยนิยม ยั่งยืน รวม 7,663 ทีม พื้นที่ 83,151 แห่ง

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีส่วนร่วมการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1) คนไทยไม่ทิ้งกัน แผนงานเพิ่มทักษะอาชีพแก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ งบประมาณ 693 ล้านบาท 2) ชุมชนอยู่ดีมีสุข แผนงานการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรทั้งระบบ งบประมาณ 14,203 ล้านบาท และ 3) งานตามภารกิจของทุกหน่วยงาน (Function) พัฒนาชุมชน/กลุ่ม ให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับกลไกการบริหารราชการ งบประมาณ สร้างการรับรู้ และมีส่วนร่วมของประชาชนทุกขั้นตอน

งบประมาณ 10,090 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 24,294 ล้านบาท โดยทำการชี้แจงทำความเข้าใจเมนูโครงการอาชีพต่าง ๆ ให้ชัดเจนกับเกษตรและสหกรณ์จังหวัด อำเภอ และตำบล ทั่วประเทศ เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน มีการเตรียมความพร้อมทั้งจำนวนคนที่จะร่วมทีมให้เพียงพอกับพื้นที่ รวมทั้งให้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนด้วย นอกจากนี้ในวันที่ 21 ก.พ. จะเป็นการคิกออฟ พร้อมกันตำบลละ 1 หมู่บ้าน เพื่อวิเคราะห์ปัญหาความเดือดร้อนเยี่ยมเยียนรายครัวเรือนและรายบุคคล ค้นหาความต้องการของประชาชนเพื่อจัดทำโครงการเสนอตามกรอบการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ต่อไป

สำหรับเมนูอาชีพภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย 1. โครงการเพิ่มทักษะอาชีพแก่เกษตรกรผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐของกระทรวงเกษตรฯ 2. โครงการจ้างแรงงานชลประทานสร้างรายได้แก่เกษตรกร 3. โครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน 4. โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวเพื่อผลินสินค้าเกษตรอื่นที่เหมาะสม 5. โครงการศูนย์ขยายพันธ์พืช 6. โครงการผลิตเมล็ดพันธ์ดี 7. โครงการขยายพันธุ์สัตว์และส่งเสริมการผลิตการผลิตปศุสัตว์ 8. โครงการสร้างทักษะและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร 9. โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร 10. โครงการพัฒนาผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ 11. โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแก่สถาบันเกษตรกรจัดเก็บพืชผลทางการเกษตร 12. โครงการสนับสนุนอุปกรณ์แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร 13. เพิ่มศักยภาพการรวบรวมและการแปรรูปยางพาราในสถาบันเกษตรกร 14. โครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ 15. สนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง 16. โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการกิจการยาง (ยางแห้ง) 17. โครงการยกระดับโครงสร้างการผลิตในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปครบวงจร 18. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารธุรกิจ SMEs ในอุตสาหกรรมแปรรูป 19. โครงการสร้างฝายชะลอน้ำและจัดหาแหล่งน้ำชุมชน และ 20. โครงการพัฒนาโครงสร้างด้านแหล่งน้ำชลประทาน

ประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรนวัตกรรมเพื่อการส่งออกที่สำคัญ และในอนาคตอาจเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตสินค้าเกษตรนวัตกรรมให้กับภูมิภาคนี้ได้

ภาพรวมมูลค่าการค้าปัจจุบันอยู่ที่ 300,000 ล้านบาท และตลาดมีโอกาสขยายตัวไปได้อีกมาก โดยปีที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ตั้ง “สถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรมสินค้าเกษตร (สกน.)” หรือ Institute for Agricultural Product Innovation (APi) ขึ้น เพื่อต่อยอดนวัตกรรมเกษตรตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ล่าสุดปี 2561 ได้จัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ “APi Business Matching” ขึ้นภายในงาน “Agrinnovation 2018” โดยนำผู้ประกอบการไทย-ผู้นำเข้าจากประเทศ CLMV มาเจรจาธุรกิจ ต่อยอดเชิงพาณิชย์ให้กับสินค้าเกษตรนวัตกรรม ผลสำเร็จครั้งนี้มีคำสั่งซื้อไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ระหว่างผู้ประกอบการไทย-กัมพูชา 2,750,000 ล้านบาท, ไทย-เมียนมา 500,000 ล้านบาท และประเทศอื่นที่มีการเจรจาต่อเนื่องหลังจบงาน

สินค้าเกษตรนวัตกรรมที่ผู้นำเข้าให้ความสนใจ เช่น สติ๊กเกอร์สมุนไพรกันยุง ผงข้าวล้างหน้า ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากน้ำมันรำข้าว โดยสินค้าเหล่านี้ถูกพัฒนามาจากข้าว มันสำปะหลัง ผลไม้ สมุนไพรชนิดต่าง ๆ สอดคล้องตามนโยบาย Thailand 4.0 ที่มุ่งสร้างมูลค่าและขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หรือ value-based economy เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรหรือชุมชน

ปัจจัยสำคัญไทยมีจุดแข็งในการผลิตสินค้าเกษตรที่มีความหลากหลาย สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการพัฒนาและต่อยอดเป็นสินค้านวัตกรรมออกสู่ตลาด จนได้รับความนิยมจากผู้บริโภค

นอกจากนี้ ทาง สกน.มีแผนจัดกิจกรรมต่อยอดงานวิจัยสินค้าเกษตรไทย กิจกรรมพัฒนาบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งแผนจัดหาช่องทางจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ งาน THAIFEX-World of Food Asia 2018 งาน STYLE 2018 งาน Organic & Natural Expo 2018 และมีแผนนำผู้ประกอบการไปเจรจาธุรกิจในต่างประเทศ อีกทั้งได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อกระตุ้นและเกิดการประสานงานกันมากขึ้นระหว่างผู้วิจัยและผู้ผลิตนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มทางการค้า

จุดสำคัญของการทำตลาดสินค้านวัตกรรม ต้องศึกษาตลาดให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมา และการเลือก “ช่องทางจำหน่าย” เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมการค้าต่างประเทศได้เชื่อมโยงร้าน Golden Place จำหน่ายสินค้าเกษตรนวัตกรรมกลุ่มที่เหมาะกับผู้รักสุขภาพและความงามกว่า 40 รายการ นำร่องใน 2 สาขา และเตรียมเพิ่มช่องทางจำหน่ายในพื้นที่สนามบิน นอกจากนี้ การทำตลาดผ่านระบบอีคอมเมิร์ซทำเองได้ง่าย และมีต้นทุนน้อย เข้าถึงลูกค้าได้เร็ว และสามารถขยายตลาดไปในตลาดต่างประเทศได้

หากรู้จักพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลายตอบโจทย์ผู้บริโภค ใส่ใจเรื่องคุณภาพ สินค้าที่มาจากธรรมชาติ และดีต่อสุขภาพ ฟันธงได้เลยว่า โอกาสเติบโตสำหรับสินค้าเกษตรนวัตกรรมเป็น 2 เท่าไม่ใช่เรื่องยาก

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2561 (มกราคม – เมษายน) ประเทศไทยส่งออกข้าวสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลกมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 3.31 ล้านตัน มูลค่า 1,826 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แซงหน้าอินเดียที่ส่งออกที่ 3.21 ล้านตัน เวียดนาม 1.61 ล้านตัน และปากีสถานอยู่ที่ 1.28 ล้านตัน จึงได้ปรับเป้าหมายการส่งออกข้าวปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านตัน มูลค่า 4,525 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากเดิมอยู่ที่ 9-9.5 ล้านตัน เนื่องจากมีข้าวค้างสต๊อกเป็นจำนวนมาก จึงมั่นใจว่าช่วง 8 เดือนที่เหลือจะสามารถส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น

โดยชนิดข้าวที่ส่งออกมากที่สุดคือ ข้าวขาว 48.74% รองลงมาข้าวนึ่ง 27.70% และข้าวหอมมะลิไทย 16.19% โดยราคาส่งออกข้าวของไทยเกือบทุกชนิดในเดือนเมษายน 2561 ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ราคาข้าวหอมมะลิไทยอยู่ในระดับคงที่จากเดือนมีนาคม 2561 ที่ 1,150 เหรียญสหรัฐต่อตัน

นายอดุลย์กล่าวว่า ส่วนการส่งออกข้าวในช่วงไตรมาที่ 2 /2561 ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้นำเข้าข้าวในหลายประเทศยังมีความต้องการนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่อง อย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ส่งออกข้าวในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) ให้รัฐวิสาหกิจที่ค้าขายสินค้าธัญพืชและน้ำมันพืช (COFCO) ที่มีการทำสัญญากันก่อนหน้านี้จะส่งมอบให้ 1 ล้านตัน โดยขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการส่งมอบข้าวงวดที่ 5 ปริมาณ 1 แสนตันและคาดว่าจะส่งมอบแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2561ขณะเดียวกันได้มีการยื่นหนังสือกับผู้เกี่ยวข้องในการทำสัญญาส่งมอบข้าวครั้งที่สองอีก 1 ล้านตัน

นายอดุลย์กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ฟิลิปปินส์มีหนังสือเชิญชวนให้ไทยร่วมประมูลข้าวแบบ G to G โดยหน่วยงาน National Food Authority (NFA) ปริมาณรวม 250,000 ตัน แบ่งเป็นข้าวขาว 15% ปริมาณ 50,000 ตัน และข้าวขาว 25% ปริมาณ 200,000 ตัน กำหนดส่งมอบในเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2561 นั้นทางไทยก็สนใจเข้าร่วม

“แนวโน้มการส่งออกข้าวน่าจะยังดีอยู่เพราะตลาดต่างๆมีความต้องการข้าวสูง และตลาดในปีนี้น่าจะเป็นของผู้ขาย จึงทำให้มีแต่คนที่ต้องการข้าว ซึ่งนานๆทีจะอยู่ในสภาวะที่หล่อเลือกได้” นายอดุลย์ กล่าว

นายอดุลย์ กล่าวว่า ในที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2561 ที่ประชุมเห็นชอบอนุมัติให้ระบายข้าวกลุ่มที่1 ที่เหลืออยู่ 4.4 หมื่นตัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทำข้อกำหนดผู้ว่าจ้าง (TOR) โดยจะชี้แจงในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ ส่วนในกลุ่ม 2 และกลุ่ม 3 ทาง นบข. ได้อนุมัติให้ระบายได้แล้วประมาณ 2 ล้านตัน โดยแบ่งเป็นกลุ่ม 2 ที่เป็นกลุ่มอาหารสัตว์ ที่สามารถเอาไปใช้ได้ในอุตสาหกรรมอาหาหารสัตว์ มีข้าวค้างอยู่ 1.5 ล้านตัน และในกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่บริโภคไม่ได้อีก 5 แสนตัน คาดว่าจะสามารถระบายได้หมดภายในเดือนหน้า

ฝุ่นตลบแก้ปัญหาราคากุ้ง “กฤษฎา” ถกเอกชน-ผู้เลี้ยงกุ้งป่วนราคา จับตา 10 พ.ค. เคาะมาตรการยกระดับราคา ด้านเอกชน “ซีพีเอฟ” รับลูกภาครัฐเปิดเกมลดราคาอาหาร-ลูกกุ้ง รายแรก

จากการที่นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรียกประชุมหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องผู้ประกอบการส่งออกเข้าหารือเพื่อแก้ปัญหาราคากุ้งตกต่ำ เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งผลการหารือร่วมกันในเบื้องต้นจะมีมาตรการเฉพาะหน้าหรือเร่งด่วน ได้แก่ การลดราคาปัจจัยการผลิต ทั้งการลดราคาลูกกุ้งกับลดราคาอาหารกุ้งกับมาตรการระยะปานกลางและระยะยาวที่จะออกมา คาดว่าจะได้ข้อสรุปในการแก้ปัญหาทั้งหมดภายในวันที่ 10 พ.ค.นี้นั้น

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ผลการหารือร่วมกันเบื้องต้นเตรียมกำหนดมาตรการระยะเฉพาะหน้าหรือเร่งด่วน และมาตรการระยะปานกลางและระยะยาว โดยมาตรการระยะเร่งด่วน คือ การหารือร่วมกับภาคเอกชนเพื่อเจรจาขอปรับลดราคาปัจจัยการผลิตในการเลี้ยงกุ้งตามที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งภาคใต้ร้องขอ และการขอความร่วมมือผู้ประกอบการรายใหญ่ที่รับซื้อกุ้งเพื่อส่งออก รับซื้อกุ้งขาวแวนนาไมจากเกษตรกรในราคาที่สูงขึ้นกว่าราคาที่รับซื้ออยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ราคา 105-115 บาท/ขนาดกุ้ง 100 ตัว ซึ่งทางภาคเอกชนได้ตอบรับข้อเสนอของกระทรวงเกษตรฯไปหารือกันในกลุ่มผู้ประกอบการอีกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปในเรื่องราคาที่ชัดเจน

ส่วนมาตรการระยะปานกลางและระยะยาว คือ การบริหารจัดการผลผลิตกุ้งให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และการควบคุมคุณภาพการเลี้ยงกุ้งของเกษตรกรให้สามารถแข่งขันในตลาดโลก เนื่องจากขีดความสามารถแข่งขันการส่งออกกุ้งของไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากที่เคยส่งออกเป็นอันดับ 1 แต่ปัจจุบันมีประเทศคู่แข่งที่ผลิตกุ้งในราคาต้นทุนที่ต่ำกว่าและได้ผลผลิตที่มากกว่าเกิดขึ้น โดยเฉพาะอินเดียที่มีผลผลิตกุ้งในปีนี้ถึง 6-7 แสนตัน ขณะที่ไทยมีผลผลิตกุ้งเฉลี่ย 2 แสนตัน เมื่อประเทศคู่แข่งผลิตกุ้งได้มากกว่าในต้นทุนที่ต่ำกว่าก็เกิดการแย่งตลาดเกิดขึ้น จึงส่งผล

กระทบต่อราคากุ้งในประเทศไทย ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯต้องเร่งจัดระเบียบการเลี้ยงกุ้ง การขึ้นทะเบียนฟาร์มของเกษตรกร เพื่อให้สามารถกำกับดูแลและควบคุมคุณภาพเพาะเลี้ยงไม่ให้มีการใช้ปัจจัยการผลิตเกินความจำเป็นที่ส่งผลต่อต้นทุนที่สูง รวมถึงคุณภาพกุ้งของไทยที่เป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น และขอความร่วมมือภาคเอกชนลดปัจจัยการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงกุ้งด้วย

ขณะที่นายบรรจง นิสภวาณิชย์ นายกสมาคมสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในไตรมาสแรกปีนี้ผลผลิตกุ้งไทยยังออกไม่มาก มีเพียง 4.6 หมื่นตัน เนื่องจากผลกระทบจากฤดูหนาวและฝนตกมากจึงชะลอการเลี้ยงมาผลิตออกสู่ตลาดมากอีกครั้งในช่วงไตรมาส 2 แทน คาดว่าผลผลิตกุ้งจะออกมากถึง 4-5 หมื่นตันในเดือน มิ.ย.นี้ แต่ขณะนี้ราคากุ้งขาวแวนนาไมกลับตกต่ำลงหนัก ขนาด 100 ตัว/กก.เหลือ กก.ละ 110 บาท ใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิต จากปกติจะอยู่ที่ระดับ กก.ละ 120-130 บาท ส่วนกุ้งขาวขนาด 70 ตัว/กก.ตกลงมาก จากปกติเดือน พ.ค.ทุกปีจะอยู่ที่ กก.ละ 150-160 บาท เพราะมีการนำไปผลิตเกี๊ยวกุ้งส่งออกกันมาก เหลือเพียง กก.ละ 120 บาท ทำให้ผู้เลี้ยงกุ้งขาดทุน ทางผู้ส่งออกไทยอ้างว่าไม่มีออร์เดอร์

และห้องเย็นเก็บสต๊อกกุ้งไว้เต็มไปหมด ซึ่งก็มีความเป็นไปได้สูง เพราะผลผลิตจากประเทศผู้ผลิตกุ้งทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นส่วนใหญ่ ขณะนี้ผลผลิตกุ้งของอินโดนีเซียกำลังออกสู่ตลาด อินเดียที่ผลิตมากขึ้นเป็นปีละ 6-7 แสนตันจะออกสู่ตลาดเดือนหน้า มีการเปิดขายในราคาต่ำ ผู้นำเข้ารายใหญ่จึงฉวยโอกาสเพื่อกดราคารับซื้อ ไทยที่มีต้นทุนผลิตสูงกว่าอาจขายไม่ดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด้านกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์ ตอบรับประเด็นหารือกับภาครัฐ โดยเริ่มมาตรการระยะเร่งด่วนในการปรับลดราคาจำหน่ายลูกกุ้งและอาหารกุ้ง โดยมีกลุ่มซีพีเอฟ ผู้ผลิตรายใหญ่เป็นรายแรกที่นำเกมประกาศลดราคาขายลูกกุ้งและอาหารกุ้ง

นายไพโรจน์ อภิรักษ์นุสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทประกาศปรับราคาอาหารกุ้งลดลง 25 บาทต่อถุง สำหรับขนาดถุงละ 25 กิโลกรัม มีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.-30 มิ.ย.นี้โดยไม่มีการจำกัดปริมาณการซื้อต่อราย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลดต้นทุนการเลี้ยงกุ้งอย่างต่อเนื่อง จากก่อนหน้านี้ที่บริษัทปรับราคาลูกกุ้งจากตัวละ 19 เหลือ 16 สตางค์ไปแล้วเมื่อวันที่1 พ.ค.ที่ผ่านมา

“ซีพีเอฟยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ด้วยการลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารกุ้งและลูกกุ้ง ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมกุ้งโดยรวมสามารถผ่านพ้นวิกฤตราคากุ้งไปได้” นายไพโรจน์กล่าว

รายงานข่าวกล่าวว่า บริษัทผู้ผลิตอาหารกุ้งรายอื่นได้มีการพิจารณาปรับลดราคากุ้งลงมาเช่นกัน เช่น บริษัทไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือไทยยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) หรือ TU ได้ปรับลดราคาจำหน่ายอาหารกุ้งลงมาประมาณถุงละ 10 บาท เป็นต้น

“โตนด” ราคาพุ่ง รับเดือน “รอมฎอน” ไทยมุสลิมรุมบริโภค-เกษตรกรรวมกลุ่มเร่งแปรรูป ความต้องการมาก ราคาดี
นายมงคล หาญณรงค์ เกษตรกรสวนตาลโตนด อ.สิงหนคร จ.สงขลา เปิดเผยว่าการเก็บเกี่ยวตาลโตนดในปี 2561 นี้ล่าช้ากว่าปกติเนื่องจากฝนตกชุก ทำให้น้ำตาลโตนดหดตัว ส่งผลต่อปริมาณน้ำตาลตโตนด โดยมีระยะเวลาเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 3 เดือน จากปกติ 5-6 เดือน ทำให้ได้ผลผลิตลดลงเหลือ 50-75% จากปกติ

โดยลูกตาลโตนดสดจะเป็นที่ต้องการในช่วงเดือนรอมฎอน หรือเดือนบวชถือศิลอดของชาวไทยมุสลิม มีแนวโน้มราคาทยอยขยับสูงขึ้นจากเดิมถุง 15 บาทเป็น 20 – 25 บาท

นอกจากนี้น้ำตาลโตนดยังเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วไปผ่านการนำไปแปรรูปเป็นน้ำตาลปี๊บ เพราะประชาชนในพื้นที่นิยมใช้น้ำตาลปี๊ปทำขนมพื้นบ้านพเราะได้รสชาติของอาหารที่อร่อยกว่าน้ำตาลทราย รวมไปถึงการนำไปกลั่นเป็นสุราพื้นบ้าน หรือสุราชุมชน

นางพูนทรัพย์ ชูแก้ว เจ้าของสวนตาลโตนด และหัวหน้าศูนย์เรียนรู้ วิถีโหนด นาเล ต.ท่าหิน อ.สทิงพระ จ.สงขลา เปิดเผยว่าต้นตาลโหนดในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา มีประมาณ 300,000 – 500,000 ต้น และมีเกษตรกรกว่า 250 ครัวเรือน

ทั้งนี้ศูนย์เรียนรู้ฯ ได้ให้สมาชิกแปรรูปตาลโหนดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น น้ำตาลผง สามารถผลิตได้ เดือนละ 600 กก./เดือน ราคา 200 บาท/กก. สร้างรายได้ 120,000 บาท/เดือนรวมไปถึงมีรายได้จากการแปรรูปเป็นสบู่ และโลชั่น อีกประมาณ 20,000 บาท/เดือน

คกก.วัตถุอันตรายยื้อแบนพาราควอต ต่อ 2 เดือน ด้านกรมวิชาการฯ ชงมาตรการจำกัด-ควบคุม ส.พืชสวนร้องรัฐชดเชยต้นทุนเกษตรกร THAIPAN เตรียมร้องนายกฯ 5 มิ.ย. ทบทวนมติ ชี้เอื้อประโยชน์ยักษ์ใหญ่

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีนายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน มีมติออกเสียง 17-18 จากทั้งหมด 23 เสียง เห็นด้วยให้มีการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอไพริฟอส และไกลโฟเซตต่อไป โดยยังคงกำหนดให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เช่นเดิม ซึ่งจำเป็นต้องกำหนดมาตรการจำกัดการใช้ โดยหลังจากนี้กรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นหน่วยงานหลักจะเป็นผู้เสนออีกครั้งภายใน 2 เดือน หากผ่านความเห็นชอบก็สามารถดำเนินการได้ทันที

ล่าสุดนายอุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมเตรียมเสนอคณะกรรมการ พิจารณาให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ออกประกาศกระทรวงภายใต้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย เพื่อควบคุม/กำกับการใช้สารเคมี เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันที

สำหรับแนวทางในการกำกับดูแล ได้แก่ 1.กำหนดสถานที่จำหน่าย เฉพาะร้านที่ได้รับการรับรอง Q shop ซึ่งเกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนแสดงพื้นที่ปลูกและชนิดพืชที่ตรงกับฉลาก 2.กำหนดคุณสมบัติของผู้ใช้-ผู้รับจ้างพ่นสารเคมี (chemical applicator) ต้องเป็นผู้ได้รับการฝึกอบรม 3.กำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าให้ความรู้เกี่ยวกับวัตถุอันตราย เพื่อลดอันตรายและความเสี่ยงจากสารเคมี

4.กำหนดให้ผู้ผลิต/นำเข้า/ส่งออก หรือผู้มีไว้ในความครอบครอง แจ้งข้อมูลการผลิต นำเข้า ส่งออกและมีไว้ในการครอบครอง เพื่อให้ทราบเส้นทางตั้งแต่การนำเข้า จนถึงเกษตรกร และ 5.กำหนดองค์ประกอบ สิ่งเจือปน และฉลาก เพื่อควบคุม ป้องกัน บรรเทา หรือระงับอันตรายที่เกิดแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม เช่น คำเตือน ระบุไม่ควรใช้ หรือห้ามใช้ในพื้นที่เสี่ยง อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

นายอนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หากมีการประกาศยกเลิกใช้สารเคมีเหล่านี้จะขออำนาจศาลคุ้มครองชั่วคราว เพื่อนำข้อมูลทางวิชาการมาหารือใหม่ โดยให้กระทรวงเกษตรฯ เป็นเจ้าภาพพิจารณาทบทวน เพราะมีความเชี่ยวชาญมากกว่ากระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งรัฐบาลต้องอุดหนุนเงินชดเชยเกษตรกรที่ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจาก 270-400 เป็น 580-630 ตัน ต่อ 5 ลิตร

นายวิทูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-Pan) กล่าวว่า ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ จะไปยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องให้มีการทบทวนและชี้ขาดต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เพราะในการประชุมคณะกรรมการผู้มีส่วนได้เสียจากสมาคมการค้า ซึ่งมีคนจากบริษัทสารเคมีดังกล่าวร่วมในกระบวนการพิจารณา อาจเข้าข่ายความผิดมาตรา 12 พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ระบุว่า “กรรมการผู้มีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวเรื่องใดผู้นั้นไม่มีสิทธ์ออกเสียงเรื่องนั้น”

“ตอนนี้รัฐบาลต้องตัดสินใจ ท่านนายกรัฐมนตรีฐานะผู้นำ ควรพิจารณาความไม่โปร่งใส ผลประโยชน์ทับซ้อน เรายังแสดงจุดยืนให้แบน เพราะที่ผ่านมาควบคุมยาก ไทยไม่เคยประสบผลสำเร็จเรื่องนี้เลย”

เหลือระยะเวลาการทำงานของรัฐบาลที่มี สมัคร Royal Online V2 อีกไม่นาน แต่ประชากรในภาคเกษตร 7 ล้านครัวเรือนกว่า 20 ล้านคน แต่มีจีดีพีรวมกันทั้งประเทศแค่ 10% เท่านั้น ถือว่ารัฐยังไม่ลุล่วงการแก้ไขในภารกิจที่ค่อนข้างใหญ่ ยังมีปัญหาด้านการหารายได้ ในขณะที่ต้องแข่งขันการส่งออกกับประเทศรอบข้างในอาเซียน รวมไป
ถึงอินเดียรุนแรงขึ้น ทำให้ภาระหนี้มีมากขึ้นทุกวัน ทำให้รัฐบาลต้องงัดนโยบาย “พักหนี้” แก่เกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อีกครั้ง